รู้จัก "ปลาเต็กเล้ง" เพชฌฆาตขี้ตกใจ น่ากลัวไหม หน้าตาเป็นไง

01 เม.ย. 2565 | 03:05 น.
อัปเดตล่าสุด :01 เม.ย. 2565 | 10:51 น.

จากกรณีนักท่องเที่ยวถูก “ปลาเต็กเล้ง” ว่ายสวนเข้าแทงคอ ได้รับบาดเจ็บขณะว่ายน้ำทะเลที่หาดอ่าวตาลคู่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ทำให้เราต้องหันมาทำความรู้จักปลาชนิดนี้กันให้มากขึ้น เพื่อเป็นแนวทางหลีกเลี่ยง "ความเสี่ยง" หากต้องเผชิญหน้ากัน

ปลาเต็กเล้ง หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า ปลากระทุงเหว ตกเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้งทั้งในไทยและต่างประเทศ บางครั้งอุบัติเหตุการเผชิญหน้าระหว่างนักว่ายน้ำและปลาเต็กเล้ง ทำให้เกิดเหตุน่าเศร้า ถึงขั้นเสียชีวิต ก็เคยมีมาแล้ว เรามาทำความรู้จักปลาชนิดนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่า เพื่อการว่ายน้ำทะเลอย่างปลอดภัย 

 

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับปลาเต็กเล้ง

  • ปลาเต็กเล้ง หรือ ปลากระทุงเหว เป็นปลาอยู่ในตระกูล"ปลากระโทงแทง" หรือวงศ์ปลาปากนก ปลาเข็มแม่น้ำ (Needlefish) ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Belonidae มีกระดูกแข็งขนาดใหญ่ ปากกว้าง มีฟันแบบวิลลิฟอร์ม (ฟันซี่เล็กเรียวยาวไม่เท่ากันและคม อยู่ติดกันเรียงเป็นแถว)  มีความปราดเปรียวและว่องไวมาก เป็นปลาที่ว่ายน้ำได้เร็วที่สุดในโลก
  • เพราะ ปลาเต็กเล้ง มี “กระดูกหลัง” ที่มีความยื่นหยุนสูง จึงสามารถพุ่งจากน้ำได้เร็วถึง 60 กม./ชม. และในช่วงอพยพจะมีความเร็วมากถึง 90 กม./ชม. สามารถกระโดดได้สูงจากผิวน้ำถึง 1 เมตร

ปลาเต็กเล้ง มีกระดูกแข็ง ปากยาว ฟันแหลมคม

  • ลักษณะโดดเด่นเมื่อพบเห็นคือ ปลาเต็กเล้ง มีปากยาวแหลมเหมือนปากนก ครีบหลังและครีบก้นมีอย่างละ 2 ครีบ ไม่มีครีบฝอย ครีบท้องมีก้านครีบ 1-3 ก้าน ครีบหางเว้าลึก เกล็ดมีขนาดเล็ก เกล็ดตามแนวเส้นข้างลำตัวมีประมาณ 130-350 แถว ขนาดใหญ่ที่สุดพบยาวถึง 120 ซม.
  • เต็กเล้งเป็นปลากินเนื้อ โดยมากจะอาศัยอาหารกินอยู่บริเวณผิวน้ำ และจับปลาเล็กๆกิน ปลาเต็กเล้งเป็นที่ชื่นชอบของนักตกปลา เพราะเมื่อตกได้ ปลาจะลากเบ็ดไปได้ยาวไกล แต่ปลาชนิดนี้ไม่เป็นที่นิยมนำมาปรุงเป็นอาหาร มีแต่ฝั่งประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ที่เรียกปลาชนิดนี้ว่า “อินทรีญวน” นำมาทำเป็นลูกชิ้นปลาบริโภค
  • ในประเทศไทยพบปลาเต็กเล้งจำนวนมากในพื้นที่ จ.ตราด และทะเลอ่าวไทย
  • เดือนธันวาคม 2561 ปลาเต็กเล้งเคยตกเป็นข่าวแทงคอทหารเรือเสียชีวิตเนื่องจากเสียเลือดมากขณะฝึกหลักสูตรรีคอน (การฝึกหลักสูตรเผชิญปัญหาต่อเนื่อง 60 ชั่วโมง) อยู่กลางทะเล อ.แหลมงอบ จ.ตราด
  • เดือนมกราคม 2563 สื่อต่างประเทศลงข่าว ปลาเต็กเล้ง กระโดดจากน้ำขึ้นมาแทงคอเด็กหนุ่มวัย 16 ปีชาวอินโดนีเซียขณะนั่งตกปลาอยู่ริมทะเล จังหวัดสุลาเวสี  เขาถูกนำส่งโรงพยาบาลเข้ารับการผ่าตัดช่วยชีวิตไว้ได้ทัน 

ข่าวเด็กหนุ่มชาวอินโดนีเซียถูกปลาเต็กเล้ง (Needlefish) กระโดดแทงคอเมื่อเดือนม.ค.ปี 2563

ความยาวลำตัวอาจยาวได้ถึง 120 ซม.

  • ปลาเต็กเล้ง ซึ่งอยู่ในวงศ์ปลากระโทงแทงนั้น เป็นปลาขี้ตกใจ เมื่อเจอคนหรือสภาพแวดล้อมที่แปลกไป จะพุ่งเข้าหาจนทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้กับผู้ว่ายน้ำที่อยู่ใกล้ ๆ ปลาเต็กเล้งไม่ใช่ปลาดุร้าย ไม่มีพิษ แต่จะพุ่งเข้าหาเมื่อตกใจ จึงไม่จำเป็นต้องหวาดกลัวปลาชนิดนี้ แต่ให้เพิ่มความระมัดระวัง

ปลาเต็กเล้งไม่ดุร้าย แต่ขี้ตกใจ พบเจอกันไม่ต้องกลัว แต่ให้ระวัง

  • พบได้ที่ไหนบ้าง? ปลาเต็กเล้ง เป็นปลาผิวน้ำ นิยมอยู่รวมเป็นฝูง พบได้ทั่วไปตามกองหิน พื้นที่ใกล้แหลม ใกล้ชายฝั่งทะเลที่ติดกับปากแม่น้ำ จึงจัดเป็นปลาน้ำกร่อยอีกจำพวกหนึ่ง นอกจากนี้ ยังพบได้ตามท่าเรือ หรือตามวัสดุลอยน้ำกลางทะเล มักวางไข่ติดกับวัสดุต่าง ๆ ใต้น้ำ ไข่มักจะมีเส้นใยพันอยู่รอบ ๆ ใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 6-9 วัน นับว่านานกว่าปลาในวงศ์อื่น ลูกปลาในวัยอ่อนส่วนปากจะยังไม่แหลมคม