กสทช.นัดถกด่วน! หลัง”เอไอเอส”จี้แจงดีลควบรวมกิจการ”ทรู-ดีแทค” 7 เม.ย.นี้

06 เม.ย. 2565 | 06:20 น.
อัปเดตล่าสุด :06 เม.ย. 2565 | 13:37 น.

บอร์ด กสทช. เรียกประชุมด่วน หลัง AWN เครือ AIS ไล่บี้ขอชี้แจงผลกระทบและผลเสียจากดีลควบรวมกิจการ”ทรู-ดีแทค” วงในเผย เบรกควบรวมไม่อยู่ แต่มีการโยนหินถามทาง ให้เขียนเงื่อนไข ห้ามทรูและดีแทคควบรวมเหลือบริษัทเดียว ภายใน 3-5 ปี เพื่อคงสภาพการแข่งขัน 3 รายใหญ่

แหล่งข่าวระดับสูงจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)เปิดเผยว่ามีการเรียกประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ในวันที่ 7 เม.ย.นี้ เพื่อรับทราบหนังสือที่บมจ.แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ผู้รับใบอนุญาตจากกสทช.ในเครือบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ที่ได้ทำหนังสือถึงพล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธานบอร์ด กสทช.เพื่อชี้แจงผลกระทบและผลเสียจากดีลควบรวมกิจการ”ทรู-ดีแทค”

กสทช.นัดถกด่วน! หลัง”เอไอเอส”จี้แจงดีลควบรวมกิจการ”ทรู-ดีแทค” 7 เม.ย.นี้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาท่าทีของบอร์ด กสทช.เองก็ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า กฎหมายที่ กสทช.ถืออยู่จะกำกับดูแลแค่ผู้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน กสทช.เท่านั้น แต่ในประเด็นดังกล่าวนั้น แม้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้ายังสรุปว่าไม่มีอำนาจในการเข้าไปยับยั้งและก็สรุปกลับมาว่าเป็นหน้าที่ของบอร์ด กสทช.ในที่สุดแล้ว บอร์ดจึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯเฉพาะเพื่อเข้ามาพิจารณาดีลควบรวมกิจการ”ทรู-ดีแทค” และได้ตั้งที่ปรึกษาอิสระขึ้นมาเพื่อให้พิจารณามีหลากหลายมิติมากขึ้น

แหล่งข่าวจาก กสทช. ยังกล่าวอีกว่า พูดตามตรงแล้วในด้านดีลควบรวมกิจการ”ทรู-ดีแทค” ของบริษัทแม่ก็ต้องปล่อยไปตามนั้น ส่วนการดำเนินกิจการในไทยที่จะเป็นบริษัทผู้เข้ารับใบอนุญาตจากสำนักงาน กสทช.นั้น มีการโยนหินถามทางโดยการเขียนเงื่อนไขและการกำหนดมาตรการดำเนินงานของบริษัทที่กำลังจะตั้งขึ้นของ  2 บริษัทว่า ในระยะ 3-5 ปี ห้ามไม่ให้ทรูและดีแทคควบรวมเหลือบริษัทเดียว ให้ยังคงสภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมเป็น 3 รายใหญ่คือ เอไอเอส ทรู ดีแทค ไปพรางก่อน ส่วนบริษัทใหม่จะให้ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวกับสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีด้านอื่นๆ

 

“วันพฤหัสบดีที่มีประชุมกันนี้ก็เป็นเพียงวาระแจ้งเพื่อทราบว่าเอไอเอสมีหนังสือเข้ามาโดยมีรายละเอียดแบบนี้ๆ แต่เราคงไม่มีมติอะไรออกไป แต่จะมีหนังสือไปยังอนุฯกรรมการให้ไปสอบถามที่ปรึกษาอิสระให้เร่งสรุปแผนหรือหามาตรเยียวยาหลังจากเกิดดีลควบรวมกิจการ”ทรู-ดีแทค”นี้”

 

 

สำหรับสถานะของ 2 บริษัทนั้น แม้จะยังไม่มีชื่อใหม่อย่างเป็นทางการเพราะต้องจดทะเบียนกับกรมธุรกิจการค้าก่อน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.นี้ ในระหว่างที่มีการเข้าประชุมกับสำนักงาน กสทช.ตัวแทนของ 2 บริษัทก็จะใช้คำว่า New Co. เท่านั้น ซึ่งในมุมมองของตัวเองนั้น เป็นที่แน่ชัดว่าในระยะยาวทรูฯจะเป็นสถานะเป็นโอเปอเรเตอร์ให้บริการในประเทศ ส่วนดีแทคจะเป็นเพียงอินเวสเตอร์ หรือนักลงทุนเท่านั้น เหมือนกับที่เทเลนอร์ กรุ๊ปฯใช้โมเดลนี้ในการทำธุรกิจกับการบริหารงานนอกประเทศตัวเอง