ซูเปอร์บอร์ด ยื่นหนังสือ กสทช. ค้านดีลควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค”

24 มี.ค. 2565 | 07:52 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มี.ค. 2565 | 15:09 น.

ซูเปอร์บอร์ด ปลุกทุกภาคส่วนป้อง”สมบัติชาติ” ค้านซูเปอร์ดีลรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค” ล่าสุดยื่นหนังสือ รักษาการประธาน กสทช.ขอให้ปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจที่กฎหมายบัญญัติ

นายณภัทร วินิจฉัยกุล ซูเปอร์บอร์ด กสทช. หรือ กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน คณะกรรม กสทช.   กล่าวว่าวันนี้(24 มี.ค.65)  ตนได้ไปยื่นหนังสือถึง พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร รักษาการประธาน กสทช.เรื่องการขอให้ปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจที่กฎหมายบัญญัติ เพื่อมีคำสั่งไม่ให้มีการควบรวม กรณีการควบรวมกิจการของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค หรือ ดีลควบรวมกิจการทรู-ดีแทค

นายณภัทร วินิจฉัยกุล ซูเปอร์บอร์ด กสทช.

เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นสูงสุดกับผู้ใช้บริการและประชาชน รวมถึงศักยภาพทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย โดยมี พล.ต.ต.เลิศศักดิ์ วิทยาพันธุ์ เลขานุการประธาน กสทช.เป็นผู้แทนรับมอบ

“ตนได้ยื่นหนังสือต่อท่านประธาน กสทช.เพื่อทักทวงให้ทำตามหน้าที่ตามบทบัญญัติกฏหมายที่กำหนดไว้ และคำนึงสูงสุดถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน ประโยชน์สาธารณะ และความมั่นคงของรัฐ กรณีดีลการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค  และอยากให้สื่อสารไปยังนักวิชาการอิสระ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สภาคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับรู้ข้อมูล เพื่อให้ตระหนักว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากทั้งในเชิงกฏหมาย และเชิงเศรษฐศาสตร์ และร่วมกันพิจารณาว่าเรื่องนี้ชอบด้วยกฏกติกามารยาทหรือไม่ เพื่อให้ได้เป็นบทสรุปว่าเรื่องนี้ควรดำเนินการอย่างไร เราต้องการความโปร่งใส ชัดเจน และตรวจสอบได้ เราไม่ได้ชี้ว่าใครกระทำผิด แต่ชี้ว่าท่านอย่าทำผิด ต้องตระหนักถึงการปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด”

 

โดยประเด็นที่มีนัยยะสำคัญในดีลการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค และพบว่าจะขัดต่อบทบัญญัติกฏหมายที่เกี่ยวข้องโดยชัดเจน ได้แก่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ.2553 และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 รวมทั้งประกาศที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ด้วย รวมไปถึงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน มีหลักการชัดเจนเขียนไว้ในมาตรา 60 ที่ระบุว่า คลื่นเป็นสมบัติของชาติ

เพราะฉะนั้นในการนำคลื่นมาใช้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม จะต้องทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ประโยชน์สาธารณะ และความมั่นคงของรัฐ ดังนั้นการดำเนินการใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อ 3 สิ่งนี้ เป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการ ซึ่งสิ่งที่ กสทช.พยายามทำและไม่กำกับดูแลดีลการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค   มีความสุ่มเสี่ยงว่าจะเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อกฏหมาย

 

นายณภัทร  กล่าวต่อไปอีกว่า มองว่า กสทช.ชุดรักษาการ  ควรรอให้คณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่เป็นผู้พิจารณาเรื่องดีลการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค เนื่องจากกระบวนการสรรหาคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ทั้ง 5 คน เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นตอนของการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที

 

ขณะเดียวกัน มีประเด็นปลีกย่อยในเรื่องกระบวนการทำงานของ กสทช.มีหลักการเขียนไว้ว่า จะต้องรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ซึ่งกรณีนี้ปรากฏว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ   แต่เรียกเฉพาะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาแสดงความเห็น  ไม่ได้เชิญภาคประชาชน เข้าไปมีส่วนร่วม ทั้งนี้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ มาตรา 28 ระบุชัดเจนว่าต้องเชิญในหลายภาคส่วนเข้ามาสอบถามความคิดเห็น

 

อย่างไรก็ตาม ตามกฏหมายซูเปอร์บอร์ดสามารถตั้งประเด็น ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะว่าท่านทำไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ในรายงานที่เสนอต่อรัฐสภา ที่ต้องเสนอผ่านไปที่ กสทช.ซึ่งควรนำข้อเสนอแนะดังกล่าวไปปรับปรุงเพิ่มเติม เนื่องจากตามกฏหมายต้องนำรายงานของซูเปอร์บอร์ด กสทช.เสนอไปรัฐสภาพร้อมรายงานของ กสทช.แต่ผลในทางปฏิบัติเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะคนที่ปฏิบัติจริง คือ กสทช.ซึ่งซูเปอร์บอร์ด กสทช.ไม่สามารถไปบังคับ กสทช.ได้

 

นายณภัทร  กล่าวปิดท้ายว่าดีลการควบรวมกิจการทรู-ดีแทคมีการวางแผนกันแบบแยบยลมาเป็นเวลานาน  มีการประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมปี 2561  ออกมาเพื่อลดอำนาจ กสทช.  เอื้อประโยชน์กับเอกชน  ซึ่งเราต้องเอาข้อมูลนี้ออกมาคลี่ ให้ประชาชนรู้เท่าทัน  เอกชน กระทำผิดกฎหมาย  แต่รัฐต้องไม่ละเลย  ภาคประชาชน ภาคสังคม กรรมธิการสภาผู้แทนราษฎร์ นักวิชาการ ต้องเข้ามามีส่วน