อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ โต้อีสท์วอเตอร์ ยันจัดประมูลท่อส่งน้ำฯโปร่งใส

03 พ.ค. 2565 | 09:49 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ค. 2565 | 18:17 น.

หลังวันนี้กรมธนารักษ์เลื่อนพิธีลงนามสัญญาโครงการบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก กับ “วงษ์สยามก่อสร้าง” ผู้ชนะการประมูลครั้งล่าสุด อย่างไม่มีกำหนด

เนื่องจากนายกรัฐมนตรี สั่งให้ชะลอไปก่อนเพื่อตรวจดูข้อกฎหมายให้รอบคอบ  ซึ่งก่อนหน้านี้ “อีสท์วอเตอร์” ผู้รับสัมปทานเจ้าเดิมเคยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางถึง 2 ครั้ง โดยระบุว่ากรมธนารักษ์ดำเนินการจัดประมูลที่เร่งรีบและดูผิดปกติ 

 

ล่าสุด นายยุทธนา หยิมการุณ อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงที่มาที่ไปของการเปิดประมูลสัมปทานโครงการท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก ที่กรมธนารักษ์เปิดให้เอกชนยื่นซองประมูลเมื่อ ก.ค. ปีที่แล้ว ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมธนารักษ์ ว่ามีการดำเนินการตามระเบียบทุกขั้นตอน มิได้เปิดประมูลโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามที่ถูกกล่าวหา 

 

เปิดปมที่มาการจัดประมูลรอบใหม่ 

 

นายยุทธนาเปิดเผยว่า ช่วงที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมธนารักษ์นั้น ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ประกอบการ และประชาชนผู้ใช้น้ำว่าต้องซื้อน้ำในราคาแพง มีผลต่อต้นทุนการผลิตแพงไปด้วย ตนจึงลงไปดูรายละเอียดสัญญา พบว่า ผู้ได้รับสัมปทาน คือ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ อีสท์วอเตอร์  

 

โดยเป็นสัญญาระยะเวลา 30 ปี ทำไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ซึ่งนายยุทธนา ระบุ อีสท์วอเตอร์  ซื้อน้ำจากกรมชลประทานถูก แต่ขายประชาชนแพง และให้ค่าตอบแทนรัฐเพียง 1%ของรายได้จำหน่ายน้ำ ซึ่งถือว่าประชาชนและรัฐเป็นผู้เสียผลประโยชน์จากสัญญานี้ 

หลังจากนั้นในปี 2563 กรมธนารักษ์จึงให้หน่วยงานภายนอก คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการศึกษาว่าควรดำเนินการเปิดประมูลใหม่หรือไม่ ด้วยวิธีการแบบใด เพื่อให้ได้รัฐรับผลตอบแทนที่เหมาะสม ซึ่งสัญญาเดิมกับอีสท์วอเตอร์ จะหมดลงในปี 2566 และการจัดประมูลใหม่สามารถดำเนิน 3 ปีก่อนหมดสัญญา

 

ผลการศึกษาออกมาว่า กรมธนารักษ์ควรดำเนินการคัดเลือกผู้ประมูลรายใหม่  จากนั้นคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ซึ่งมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกะทรวงการคลัง นั่งเป็นประธานบอร์ด และมีผู้แทนจากกรมต่างๆ เช่น กรมทรัพยากรธรรมชาติฯ กรมชลประทาน กรมที่ดิน ก็มีมติเห็นชอบให้กรมธนารักษ์ดำเนินการตามผลการศึกษานั้น

 

ก.ค. 2564 กรมธนารักษ์ได้ออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมยื่นซองประมูลโครงการดังกล่าว มี อีสท์วอเตอร์ และเอกชนอีก 2 รายยื่นซอง ต่อมาในเดือน ส.ค. กรมธนารักษ์ได้แจ้งยกเลิกการคัดเลือกบริษัทเอกชน และปรับปรุงประกาศเชิญชวนใหม่ ซึ่งครั้งนั้น อีสท์วอเตอร์ ไม่เห็นด้วยและทำหนังสือโต้แย้ง  

 

อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ โต้อีสท์วอเตอร์ จัดประมูลท่อส่งน้ำฯโปร่งใส

 

นายยุทธนาเผยว่า สาเหตุที่ยกเลิกเป็นเพราะแต่ละบริษัทใช้เกณฑ์การเสนอราคาด้วยปริมาณน้ำที่สามารถผลิตได้ไม่เท่ากัน กรมเกรงว่ารัฐเสียประโยชน์ จึงต้องไปดำเนินการปรับแก้ TOR ให้เหมาะสม ยืนยันขั้นตอนดำเนินการคัดเลือกเป็นไปตาม พรบ.ที่ราชพัสดุ 

 

กระทั่งเดือน ก.ย. กรมจึงเปิดให้เอกชนเข้ายื่นซองใหม่ มี 5 บริษัทเข้ายื่น ก่อนได้ผู้ชนะ คือ วงษ์สยามก่อสร้าง แต่ภายหลัง อีสท์วอเตอร์ ได้คัดค้านผลการประมูล และฟ้องร้องต่อศาลปกครองถึง 2 ครั้งโดยระบุว่ามีการเปิดประมูลมิชอบด้วยกฎหมาย และดำเนินการเร่งรีบผิดปกติ เรื่องนี้ยืดเยื้อจนกระทั่งนายยุทธนาหมดวาระตำแหน่งอธิบดีกรมธนารักษ์ลง  และ 1 ต.ค. นายประภาศ คงเอียด เข้ารับตำแหน่งอธิบดีคนใหม่ 

30 ปีสัญญาเดิม “รัฐเสียประโยชน์ ประชาชนซื้อน้ำแพง”

 

นายยุทธนา เปิดเผยว่า สัญญาสัมปทานกว่า 29 ปี ที่กรมธนารักษ์ทำกับ อีสท์วอเตอร์ ไม่สมเหตุสมผล   อีสท์วอเตอร์ซื้อน้ำจากกรมชลประทานเพียง 50 สต./ลบ.ม. แต่ขายต่อประชาชนในราคา 13-20 บาท/ลบ.ม. และให้ค่าตอบแทนรัฐเพียง 1% ของค่าน้ำที่บริษัทสัมปทานขายให้เอกชน  

 

ซึ่งการดำเนินการประมูลครั้งใหม่ ที่ประชุมที่ราชพัสดุจึงเห็นตรงกันว่า ควรลดผลตอบแทนเอกชน ให้ต่ำลงไม่เกิน 10.98  บาท/ลบ.ม. และเรื่องการดำเนินการวางท่อควรให้สิทธิ์กรมธนารักษ์เข้าตรวจสอบได้ เนื่องจากสัญญาเดิม เอกชนมีอิสระดำเนินการเองทุกอย่าง แถมเมื่อครบสัญญา 30 ปี สิ่งปลูกสร้างที่เอกชนลงทุนไว้จะสามารถเอาคืนกลับไปได้หมด ซึ่งทำให้ภาครัฐเสียประโยชน์ 

 

ส่วนผลประโยชน์ที่ภาครัฐจะได้รับจากการเปิดประมูลครั้งใหม่ นายยุทธนาเผยว่า ได้เปรียบเทียบผลตอบแทนจากสัญญาเดิมที่ทำไว้กับ อีสท์วอเตอร์ 30 ปีรัฐได้ผลตอบแทน 500 กว่าล้านบาท โดยรัฐได้ค่าตอบแทน 1%  

 

แต่สัญญาใหม่กับ วงษ์สยามก่อสร้าง 30 ปี รัฐได้ผลตอบแทนมากกว่า 25,000 ล้าน โดยรัฐได้ค่าตอบแทน 27% นอกจากนี้ ยังมีการันตีขั้นต่ำของปริมาณจ่ายน้ำได้ขั้นต่ำ 150 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งนับว่าเป็นปริมาณที่น่าพอใจ

 

อดีตอธิบดีเผย ยิ่งล่าช้าทุกฝ่ายยิ่งเสียหาย 

 

แม้ว่าศาลปกครองกลางจะยกฟ้องคำร้องของ อีสท์วอเตอร์ ถึง 3 ครั้ง และไม่มีผลใดๆต่อการเดินหน้าลงนามสัญญาใหม่กับวงษ์สยามก่อสร้าง   แต่กรมธนารักษ์ยังต้องรอให้อีสท์วอเตอร์ ให้ความร่วมมือในการเปิดให้กรมเข้าตรวจสอบทรัพย์สินจากการทำสัมปทานช่วงตลอดเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา

 

มิฉะนั้นแล้วกรมจะไม่สามารถส่งมอบโครงการต่อให้วงษ์สยามก่อสร้างได้ เพราะตามเงื่อนไข คือต้องส่งมอบไม่เกิน 180 วันหลังลงนามสัญญา ถ้าไม่ทันกรมจะมีความผิดและอาจถูกฟ้องร้อง เมื่อถึงเวลานั้นกรมก็อาจต้องฟ้อง อีสท์วอเตอร์ เหมือนกัน 

 

นายยุทธนา ยังโต้แย้งข้อกล่าวหาว่าดำเนินการจัดประมูลเร่งรีบดูผิดปกติ  กล่าวว่า ความจริงแล้วถือว่าล่าช้ามาพอสมควร ยิ่งต้องเลื่อนการลงนามสัญญากับเอกชนรายใหม่ ยิ่งเกิดความเสียหาย ด้วยสัญญาสัมปทานที่ใกล้จะหมด โครงการก็ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนข้อกล่าวหาว่า กรมธนารักษ์ไม่โปร่งใสในการจัดประมูล นายยุทธนา ตั้งคำถามกลับว่า ถ้าไม่โปร่งใส ทำไมอีสท์วอเตอร์ ถึงเข้าประมูลทุกครั้ง 

 

สุดท้าย อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ ยังยืนยัน ว่าการจัดประมูลท่อส่งน้ำครั้งใหม่นี้ ด้วยเพราะคำนึงผลประโยชน์ของรัฐ และเพื่อช่วยประชาชนลดต้นทุนค่าน้ำให้ต่ำลง คงต้องรอติดตามต่อไปว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร