เปิดกฎหมาย บำนาญ ส.ส. ส.ว. ตอบแทนคุณงามความดีมีเงินเลี้ยงชีพ

10 มิ.ย. 2565 | 03:27 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มิ.ย. 2565 | 10:49 น.

เปิดกฎหมาย บำนาญ ส.ส. ส.ว. ภายใต้พระราชบัญญัติ กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. 2556 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ปี 2556 ตอบแทนคุณงามความดีมีเงินเลี้ยงชีพสำหรับสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติ ไปดูข้อกฎหมายชัด ๆ ว่า เป็นยังไง มีสาระสำคัญครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง

แม้การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2566 จะสิ้นสุดไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่ยังคงมีควันหลงตามมาเป็นประเด็นร้อน สำหรับกรณี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ลุงขึ้นอภิปรายงบประมาณว่า เป็น “งบช้างป่วย” เพราะเงินไปโป่งตรงเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญของข้าราชการ 

 

โดยหัวหน้าพรรคก้าวไกล อัดเรื่องนี้ว่า งบประมาณ 2566 ที่เอาไปใส่เรื่องนี้ มีมูลค่าสูงถึง 3 แสนล้านบาท หรือเทียบเท่าเท่ากับกระทรวงศึกษาธิการที่เอาไปใช้ดูแลเด็กทั่วประเทศทั้งกระทรวง และยังมีงบประมาณที่เป็นงบประจำจำนวนมาก ทำให้ภาระงบประมาณมีเหลือในการพัฒนาหรือใช้แก้ไขปัญหาในอนาคตจำกัด

 

แม้ท้ายที่สุดการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ จะผ่านวาระแรกไปได้  278 เสียง ต่อ 194 เสียง แต่หลังจากนั้นไม่นาน “ศรศักดิ์ อ้วนล้วน” ประธานศูนย์พิทักษ์สิทธิสวัสดิการข้าราชการบำนาญแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือถึงหัวหน้าพรรคก้าวไกล ถึงการอภิปรายดังกล่าวว่า เขย่าขวัญ บั่นทอนจิตใจ ดูถูกเหยียดหยามข้าราชการบำนาญเป็นช้างป่วย พร้อมให้ตอบข้อสงสัยในประเด็นต่าง ๆ กลับมา

 

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีบุคคลอีกหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องบำเหน็จ บำนาญ ว่าแท้จริงแล้วไม่ใช่แค่เพียงข้าราชการเท่านั้นที่มีระบบบำเหน็จ บำนาญดูแล แต่ผู้ที่อยู่ในสภาผู้ทรงเกียรติ ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ก็มีเงินเลี้ยงชีพ ในลักษณะเงินบำนาญเช่นกัน

 

กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา

กฎหมายฉบับนี้ คือ พระราชบัญญัติ กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. 2556 ซึ่งประกาศลงในราชกิจานุเบกษา วันที่ 22 พฤษภาคม 2556 ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ภายใต้กฎหมายดังกล่าว กำหนดหมวดต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน 6 หมวด รวม 28 มาตรา

 

โดยเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ ระบุว่า คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้รัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติมีภารกิจในด้านการตรากฎหมาย การควบคุมการบริหาร ราชการแผ่นดิน และการให้ความเห็นชอบในเรื่องต่าง ๆ 

 

ตลอดจนให้ความช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาต่างๆ ของประชาชน รวมทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นภารกิจที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ดังนั้น เพื่อตอบแทนคุณงามความดีและความเสียสละแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งสมาชิกภาพได้สิ้นสุดลง

 

จึงสมควรให้มีกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

ภาพประกอบ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2566

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมาย สรุปได้ดังต่อไปนี้

 

ให้มีกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ดังต่อไปนี้

  • การจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพ
  • การจ่ายเงินช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล
  • การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีทุพพลภาพ
  • การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีถึงแก่กรรม
  • การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีการให้การศึกษาบุตร
  • สวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

 

พระราชบัญญัติ กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. 2556

 

สำหรับกองทุนฯ ประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้

  • เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้
  • เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี
  • เงินที่สมาชิกรัฐสภาส่งเข้ากองทุนในอัตราที่คณะกรรมการกำหนด
  • เงินที่โอนมาจากกองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วย
  • กองทุนสงเคราะห์ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. 2543
  • เงินและทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุน
  • เงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการบริจาค
  • ดอกผลของเงินกองทุน

 

ขณะที่รายได้ของกองทุนไม่ต้องนําส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

 

ส่วนการดำเนินงานของกองทุน กำหนดว่า สมาชิกรัฐสภาซึ่งได้ส่งเงินเข้ากองทุนมีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพเมื่อสิ้นสุดสมาชิกภาพแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และจำนวนอัตราเงินทุนเลี้ยงชีพที่จะได้รับจากกองทุนนั้น ให้นําระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งการเป็นสมาชิกรัฐสภาของผู้นั้นมาคิดคํานวณด้วย

 

โครงสร้างกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา

 

สำหรับสมาชิกรัฐสภาที่จะมีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพ จะต้องไม่เป็นบุคคลที่อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเป็นบุคคลที่เคยถูกวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนจากตำแหน่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภามีสิทธิขอรับเงินเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลจากกองทุนตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

 

กรณีผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาถึงแก่กรรม ให้บุคคลตามลำดับดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิขอรับเงินจากกองทุนก่อนหลัง

  • บุคคลที่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาได้แสดงเจตนาเป็นหนังสือให้เป็นผู้มีสิทธิขอรับเงินจากกองทุน
  • คู่สมรส
  • บุตร
  • บิดามารดา

 

ทั้งนี้ในการขอรับเงินให้ผู้มีสิทธิขอรับเงินยื่นคําขอต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาถึงแก่กรรม

 

ส่วนการจ่ายเงินจากกองทุนเพราะเหตุทุพพลภาพให้จ่ายให้แก่ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา เพราะป่วยเจ็บทุพพลภาพซึ่งแพทย์ที่ทางราชการรับรองได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าไม่สามารถทำงานต่อไปได้ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

 

พร้อมกำหนดให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภามีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนในกรณีการให้การศึกษาบุตรสำหรับบุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งเข้ารับการศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงระดับปริญญาตรี หรือ เทียบเท่าได้เพียงคนที่ 1 และคนที่ 2 ทั้งนี้ ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น

 

กรณีที่บิดาและมารดาเป็นผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ให้บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนในกรณีการให้การศึกษาบุตรเพียงฝ่ายเดียว เว้นแต่เมื่อมีการจดทะเบียนหย่าหรือแยกกันอยู่ และบุตรอยู่ในความอุปการะของผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาฝ่ายใด ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาฝ่ายนั้นเป็นผู้มีสิทธิได้รับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจ่ายเงินในกรณีการให้การศึกษาบุตร ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

 

นอกจากนี้การจ่ายเงินจากกองทุนในกรณีสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่น ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดอีกด้วย

 

อ่านรายละเอียด แผนยุทธศาสตร์กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ปี 2565 - 2568 (ฉบับปรับปรุง ปี 2565)