จากมติบอร์ดบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) หรือ AOT ล่าสุดได้สร้างกระแสความฮือฮาให้กับแวดวงสายการบินและสังคมเป็นอย่างมาก กับวาระการแต่งตั้งประธานกรรมการทอท. และกรรมการ ทอท. แทนตำแหน่งกรรมการที่ว่างลง เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เมื่อมีการแต่งตั้ง “สราวุธ ทรงศิวิไล” อธิบดีกรมทางหลวง นั่งแท่นประธานกรรมการ ทอท. และ “อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย” อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เป็นกรรมการทอท.
เมื่อดูจากรายชื่อบอร์ดทอท.ล่าสุดจำนวน 15 คน ซึ่งประกอบไปด้วย นายสราวุธ ทรงศิวิไล,นายนิตินัย ศิริสมรรถการ,นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์,นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย,นายวราห์ ทองประสินธุ์,พล.ต. อ. มนู เมฆหมอก,นาง ณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์,พล.อ.อ. ภานุพงศ์ เสยยงคะ,น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ,นายกฤษณ์ เสสะเวช,น.ส. ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ,น.ส. พัดชา พงศ์กีรติยุต,นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์,นายจิรพล สังข์โพธิ์,นายกฤชเทพ สิมลี
ต้องถือว่าเป็นการพลิกโฉมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับ AOT เพราะเป็นครั้งแรกที่กระทรวงคมนาคม ส่งโควต้าจำนวน 2 คนเข้ามานั่งบอร์ดทอท.คือ “สราวุธ ทรงศิวิไล” อธิบดีกรมทางหลวง ที่ขยับตำแหน่งจากรองประธานบอร์ดมานั่งแท่นเป็นประธานบอร์ด และแต่งตั้ง “อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย” อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เป็นกรรมการทอท. แทน “สราวุธ เบญจกุล”ที่ลาออกไป
การแต่งตั้งครั้งนี้แม้จะไม่ได้ขัดอะไรกับมติครม.ในปี2562 ที่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการให้หน่วยงานกำกับดูแลส่งคนเข้ามานั่งเป็นบอร์ดข้าราชการและรัฐวิสาหกิจที่กำหนดให้มีการส่งหน่วยงานในสังกัดที่กำกับดูแลเข้าไปนั่งได้ 1 คน แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นในการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดก็สามารถส่งไป 2 คนได้
การให้เหตุผลถึงเรื่องดังกล่าวว่าคมนาคมต้องเข้าไปดูแลทอท.อย่างใกล้ชิด เพราะมีเรื่องของการโอนย้ายสิทธิในการบริหารจัดการ 3 สนามบินของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี กระบี่ และบุรีรัมย์ ในอนาคตที่จะเกิดขึ้น แต่ทำเอาหลายคนเลยมองว่าเรื่องสนามบิน เป็นเรื่องเดียวกับทางหลวงหรือไม่
ขณะที่กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นกว่า 70% ก็สมยอม ที่จะคงโควต้า 1 คน โดยมีนายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ รองอธิบดีกรมศุลกากรเข้ามานั่งบอร์ดทอท. แถมยังยกตำแหน่งประธานบอร์ดทอท.ให้ตัวแทนของคมนาคมมานั่งเก้าอี้นี้ ซึ่งเป็นที่น่าจับตามอง เพราะก่อนหน้านี้ตำแหน่งประธานบอร์ดทอท.กว่าจะตกมาถึงมือกระทรวงการคลังก็ไม่ง่าย เพราะในอดีตประธานบอร์ดทอท.ยุคแรกๆล้วนมาจากสายทหารอากาศ หรือทัพฟ้า ก่อนจะเปลี่ยนมือมาอยู่ในขั้วการเมือง ซึ่งแล้วแต่จะจัดสรร
โดยในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังก็ส่ง“ประสงค์ พูนธเนศ’ นั่งเก้าอี้ประธานบอร์ดทอท.มาอย่างยาวนานหลายปีมาก ตั้งแต่เป็นอธิบดีกรมศุลกากรจนถึงขยับมาเป็นปลัดกระทรวงการคลัง หลังยึดคืนเก้าอี้ตำแหน่งประธานบอร์ดจาก “ปิยะพันธ์ จำปาสุต” อดีตอธิบดีขนส่งทางบกและอดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ที่ได้ลาออกไปเมื่อปี2554 จากกรณีการให้เอกชนบริหารที่จอดรถสนามบินสุวรรณภูมิพ่นพิษ
มาเว้นช่วงไปก็ตอนตั้ง “สราวุธ เบญจกุล” ที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักงานศาลยุติธรรม มานั่งประธานบอร์ดทอท.เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2563 และลาออกไปในเดือนมีนาคม2565 ก่อนที่คณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม มีมติผลสอบวินัยร้ายแรง เรื่องจัดจ้างปรับปรุงศาลพระโขนง
ต่อเรื่องนี้นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กล่าวถึงกรณีการตั้งประธานกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ( AOT) หรือ ทอท. ล่าสุดว่า แม้กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่เนื่องจาก ทอท. เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และยังเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ดังนั้นจึงไม่ได้มีการกำหนดในกฎหมายว่าผู้ที่จะเป็นประธานกรรมการ จะต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในกระทรวงการคลัง แต่คณะกรรมการ ทอท. จะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกจากความเหมาะสม
อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลัง ก็ได้มีการพิจารณาส่งนายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ รองอธิบดีกรมศุลกากร ไปนั่งเป็นเป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้วย ในตำแหน่งกรรมการกำหนดค่าตอบแทน
ทั้งยังยกตัวอย่างหน่วยงานที่คนจากกระทรวงการคลังไปนั่งเป็นประธาน เช่น สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งไม่ได้มีการกำหนดว่าจะต้องเป็นคนของกระทรวงคลังเป็นประธาน แต่เพราะเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง ทำให้ปัจจุบันประธานบอร์ด คือ นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ขณะที่ ธ.ก.ส. มีการกำหนดชัดเจนว่าประธานบอร์ด จะต้องเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดังนั้น เมื่อผู้ใดดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง ก็จะต้องนั่งเป็นประธานบอร์ด ธ.ก.ส. ด้วย นางปานทิพย์ กล่าวทิ้งท้าย
ที่ผ่านมาต้องถือว่าทอท.เป็นรัฐวิสาหกิจชั้นดี ก่อนโควิด-19 ทอท.มีรายได้ต่อปีร่วม 6 หมื่นล้านบาท มีสินทรัพย์ร่วม 1.98 แสนล้านบาท และยังโครงการลงทุนที่อยู่ในไปป์ไลน์ไม่ต่ำกว่า 3.93 แสนล้านบาท ทั้งการขยายศักยภาพของสนามบินทั้ง 6 แห่งของทอท.เพื่อรองรับผู้โดยสารจากก่อนโควิดอยู่ที่ราว141.87 ล้านคน เพิ่มเป็น 243.7 ล้านคน ไม่รวมแผนลงทุนสร้างสนามบินแห่งใหม่ อย่างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 และสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 ที่คาดว่าจะใช้งบลงทุนอีกราว 1.6 แสนล้านบาท และที่สำคัญ คือ สัมปทานต่างๆในสนามบิน ล้วนทำให้ทอท.เป็นขุมทรัพย์ชั้นดี
นอกจากนี้สิ่งที่ต้องจับตามองต่อไป คือ การเข้ามาของบอร์ดชุดใหม่นี้เป็นช่วงที่ทอท.จะต้องมีการสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ทอท.คนใหม่ แทน “นิตินัย ศิริสมรรถการ” ที่จะหมดวาระในเดือนเมษายนปี2566 หลังจากนั่งมาแล้ว 8 ปี และมีการต่ออายุไปแล้ว 1 ครั้ง ไม่สามารถต่ออายุได้อีก งานนี้เก้าอี้ร้อนปรอดแตกแน่นอน
สำหรับประวัติ “สราวุธ ทรงศิวิไล” ประธานบอร์ดทอท. เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2507 อายุ 58 ปี จบการศึกษาปริญญาโท วิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต (ขนส่ง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต(วิศวกรรมโยธา)จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวง ประสบการณ์ทำงาน เคยนั่งตำแหน่งอธิบกรมการขนส่งทางรางปี2562 ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนขนส่งและจราจร ในปี2561-2562) ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม(ปี2560-2561)รองอธิบดีกรมทางหลวง (ฝ่ายบำรุงทาง)ปี2557-2560 รองอธิบดีกรมทางหลวง (ฝ่ายวิชาการ)ปี2556-2557