"ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามกรณีการจัดหารถโดยสารใหม่ของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ตามแผนฟื้นฟูกิจการขสมก. โดยขสมก. กำหนดรูปแบบการจ้างเหมาบริการเดินรถโดยสารปรับอากาศที่ใช้พลังงานสะอาด หรือรถเมล์ไฟฟ้า (EV) จำนวน 2,511 คัน
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเดินรถ และแก้ปัญหาการแบกภาระหนี้สินสะสมมหาศาลกว่า 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นเรื่องคาราคาซังขึ้นมา หลังจากการประกาศเอกสาร TOR ของโครงการ หรือการประกาศประกวดราคาด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ยังผลักดันออกมาไม่ได้
นั่นเพราะเจอข้อทักท้วง และถูกตั้งข้อสังเกตจากหลายหน่วยงาน จนทำให้โครงการดังกล่าวถูกแช่เอาไว้ ท่ามกลางปัญหาภาวะหนี้สินองค์กรที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทุกวันเหมือนเลือดไหลไม่หยุด
แม้ที่ผ่านมา “กิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล” ผู้อำนวยการ ขสมก. จะออกมาการันตีว่า ภายในระยะเวลา 3 เดือน หรืออย่างเร็วที่สุดน่าจะได้เริ่มการจ้างเอกชนในช่วงปลาย ๆ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 นี้ ซึ่งปัจจุบันขสมก. จะต้องเสนอโครงการนี้เข้าไปยังบอร์ด ตีตราก่อนจะลุยประกวดราคาได้
แต่ท่ามกลางข้อครหา และเพื่อสร้างความโปร่งใส ชัดเจน และแน่ใจ ล่าสุด ผู้อำนวยการ ขสมก. ได้ผลักดันโครการนี้ เข้าไปบรรจุอยู่ภายใต้โครงการข้อตกลงคุณธรรม โดยทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลาง เพื่อให้ส่งผู้ร่วมสังเกตการณ์ต่อร่าง TOR ของโครงการ ซึ่งปัจจุบันร่าง TOR ของโครงการนั้นทำเอาไว้จนสะเด็ดน้ำแล้ว
ตามแผน ขสมก. กำหนดเอาไว้ว่า จะจ้างเหมาเอกชนบริการเดินทั้งหมด 2,511 คัน ซอยเป็นงวด ๆ รวมทั้งหมด 7 งวด โดยในงวดที่ 1-6 กำหนดเอาไว้จำนวนงวดละ 400 คัน ส่วนงวดสุดท้ายกำหนดไว้ในส่วนที่เหลืออีก 111 คัน แต่ในงวดแรกนั้น จะเร่งเปิดประมูลก่อน 224 คัน มีมูลค่ากว่า 953 ล้านบาท
นอกจากนี้ตามแผนยังมีการระบุให้ ขสมก. จ้างเอกชนเข้ามาให้บริการเดินรถโดยสารไฟฟ้า หรือ รถโดยสาร NGV อีก 1,500 คันด้วย
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม บอกกับ “ฐานเศรษฐกิจ” โดยตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องนี้ว่า การดำเนินการในลักษณะนี้มีเงื่อนงำ เพราะวงเงินของโครงการลดลงจากเดิมมาก เป็นผลมาจากการปรับลดจำนวนรถเมล์ลงมาจากกรอบเดิมจำนวน 400 คัน เหลือ 224 คัน
แม้ ขสมก. จะอ้างว่า ช่วยทำให้เกิดความรวดเร็ว แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่อาจหลีกเลี่ยงการเสนอโครงการนี้ไปยังคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดสภาพัฒน์ฯ) กลั่นกรองโครงการ เพราะมูลค่าโครงการไม่ถึง 1,000 ล้านบาทได้
กรณีดังกล่าวได้ถูกหยิบยกเข้าไปรายงานในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ ได้แสดงความคิดเห็นที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้
1.รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามมติ คนร. โดยการดำเนินการต่าง ๆ ของ ขสมก. มีความล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดเอาไว้ค่อนข้างมาก
2.คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ เห็นว่า แนวทางการจัดหารถโดยสารใหม่ที่ ขสมก. รายงาน ทั้งการจ้างเหมาบริการเดินรถโดยสารปรับอากาศที่ใช้พลังงานสะอาด และการไม่จ้างเอกชนเดินรถจำนวน 1,500 คัน เป็นการดำเนินการที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่กำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการฯ (ฉบับเดิม) และแผนฟื้นฟูกิจการฯ (ฉบับปรับปรุงใหม่)
ดังนั้น คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ จึงเห็นสมควรให้ ขสมก. ไปดำเนินการตามขั้นตอน โดยเฉพาะการเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาโครงการให้เกิดความชัดเจน และควรหารือกับ สศช. อย่างเป็นทางการว่าการดำเนินโครงการจ้างเหมาบริการเดินรถเมล์ EV เข้าข่ายเป็นงบลงทุนที่จะต้องนําเสนอ สศช. เพื่อพิจารณาหรือไม่
3.คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ยังมีความเห็นว่า จากนี้ยังจำเป็นต้องติดตามและแก้ไขปัญหาการดำเนินงานต่าง ๆ ของ ขสมก. ที่ล่าช้า ร่วมกับกระทรวงคมนาคม และ ขสมก. โดยเฉพาะเรื่องการจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรระยะสั้น และการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการฯ ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วย
ทั้งนี้การแสดงความเห็นทั้งหมดของ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ที่ประชุม คนร. ได้รับทราบ พร้อมทั้งมีข้อสั่งการให้ ขสมก. นําความเห็นของคณะอนุกรรมการ ไปดำเนินการ โดยให้ ขสมก. รายงานความคืบหน้าให้คณะกรรมการบริหารกิจการ ขสมก. และกระทรวงคมนาคมพิจารณา และเสนอให้ คนร. ทราบเป็นรายไตรมาส อย่างเคร่งครัด
พร้อมกันนี้ยังมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นต้นสังกัดของ ขสมก. ที่กำลังแบกภาระหนี้กว่า 1.3 แสนล้านบาท ได้กำกับและติดตามการดําเนินงานของ ขสมก. ให้เป็นไปตามมติ คนร. ด้วย เพื่อให้แนวทางการฟื้นฟูกิจการเป้นไปตามแผน และลดอาการเลือดไหลของ ขสมก.ให้ค่อย ๆ ดีขึ้น
ส่วนการผลักดันโครงการ รถเมล์ EV จะมีข้อสรุปอย่างไรนั้น เรื่องนี้คงกลายเป็นหนังเรื่องยาวที่ต้องติดตามกันในตอนต่อไป ว่าท้ายที่สุดแล้ว มหากาพย์รถเมล์ EV จะมีข้อสรุปอย่างไร และวัดใจขสมก.ด้วยว่า จะเดินไปยังไงต่อ