รอยยิ้ม กำลังใจ สานสายใย ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน

22 ต.ค. 2560 | 14:26 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ต.ค. 2560 | 21:26 น.
ทราบมั้ยว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคนี้มากพอสมควรเลยทีเดียว จากประชากร 100 คน จะมีป่วยโรคสะเก็ดเงิน 1 ถึง 2 คน เพราะฉะนั้นในประเทศไทยเอง หากเทียบประชากรในปัจจุบัน 67 ล้านคน จะมีผู้ป่วยด้วยโรคสะเก็ดเงินจำนวนประมาณถึงเกือบ ล้านคน และวันที่ 29 ตุลาคม ของทุก ๆ ปี ถือเป็นวันสะเก็ดเงินโลก สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย จึงต้องการสื่อสารให้สังคมเข้าใจโรคสะเก็ดเงินในทางที่ถูกต้องและเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน มีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข

ศ.ดร.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ ประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เผยว่าโรคสะเก็ดเงิน มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Psoriasis” หรือที่ชาวบ้านมักเรียกผิดว่าโรคเรื้อนกวาง เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่พบบ่อย อาการมีผื่นแดง สะเก็ดหนา บริเวณข้อศอก หัวเข่า หลัง หนังศีรษะ และอาจมีเล็บผิดปกติ มีข้ออักเสบ ปวดบวม แดงร้อน ข้อผิดรูปได้ พบได้ประมาณ 20- 40% โดยผู้ป่วยอาจมีอาการผิดปกติของเล็บหรือปวดข้อนำมาก่อน หรือเกิดขึ้นพร้อมๆกับอาการผื่นที่ผิวหนัง บางรายมีอาการคันร่วมด้วย ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากพันธุกรรมและความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

sil2

ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไม่ใช่โรคติดต่อ ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ ส่งผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย หากคนรอบข้างไม่รู้จักโรคดีพอ อาจไม่อยากเข้าใกล้ ผู้ป่วยเด็กต้องขาดเรียนเวลาที่ผื่นเห่อ เพื่อนไม่กล้าเล่นด้วย ผู้ป่วยผู้ใหญ่มีความอับอาย ไม่กล้าเข้าสังคม แยกตัวจากสังคม เพราะเกรงว่าจะเป็นที่รังเกียจ ไม่มีใครรับเข้าทำงานเนื่องจากมีความเชื่อที่ผิดคิดว่าเป็นโรคติดต่อ สะเก็ดเงินพบได้ทั้งเพศชายและหญิง พบได้ในทุกช่วงอายุ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยพบบ่อยใน 2 ช่วงอายุ คือ ช่วงวัยรุ่นถึงวัยรุ่นตอนปลาย อายุประมาณ 20 ปี และวัยผู้ใหญ่ อายุประมาณ 55-60 ปี

ผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน อาจจะมีโรคอื่น ๆ ร่วมที่ป้องกันได้ เช่น ข้อเสื่อม ข้ออักเสบ โดยโรคข้อนั้นมีความเกี่ยวข้องกับโรคผิวหนัง นอกจากนั้นยังมีโรคอ้วนที่มีความเกี่ยวข้องด้วย บางครั้งโรคอ้วนอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เป็นสะเก็ดเงินได้ เพราะว่าสารที่ทำให้เป็นโรคสะเก็ดเงินส่วนหนึ่งสร้างมาจากไขมัน นอกจากนั้นโรคอ้วนยังส่งผลทำให้เกิดโรคหัวใจและโรคอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย ผู้ป่วยสะเก็ดเงินที่มีโรคอ้วนเมื่อลดน้ำหนักลงไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ก็จะสามารถรักษาสะเก็ดเงินให้หายได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อยจะคุมโรคสะเก็ดเงินได้ดีกว่า โรคสะเก็ดเงินนั้นนอกจากจะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของความอ้วน กรรมพันธุ์ สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีผลมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือการทานยาบางตัว เป็นตัวกระตุ้นให้คุมสะเก็ดเงินได้ยากมากขึ้น ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยอยู่แล้วต้องพึงระวังให้มาก หากวิถีชีวิตประจำวัน ต้องใช้ชีวิตกับความเครียด การอดนอน ก็จะเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดสะเก็ดเงินขึ้นมาได้

sil1

การรักษาโรคสะเก็ดเงินมีหลากหลายวิธีขึ้นอยู่กับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคน ในกรณีที่ผื่นเป็นน้อย แพทย์มักพิจารณารักษาด้วยยาทาเฉพาะที่ เช่น ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ กลุ่ม วิตามินดี น้ำมันดิน กรณีที่ผื่นเป็นมาก กระจายทั่วร่างกาย อาจพิจารณารักษาด้วยการฉายแสงอัลตราไวโอเลต 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ต่อเนื่องกัน หลายๆสัปดาห์ หรือเป็นเดือน ผลการรักษาค่อนข้างดี ผลข้างเคียงน้อยหรือถ้าผู้ป่วยไม่สะดวกมาฉายแสงอัลตราไวโอเลต ที่โรงพยาบาล อาจพิจารณารักษาด้วยยารับประทาน เช่น ยา Methotrexate Acitretin และ Cyclosporine เป็นต้น ยาเหล่านี้ ผลการรักษาค่อนข้างดีเช่นกัน แต่มีผลข้างเคียง ผู้ป่วยจึงต้องมาพบแพทย์เป็นระยะ มีการเจาะเลือดเพื่อเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยารับประทานหรือการฉายแสงอัลตราไวโอเลต อาจพิจารณารักษาด้วยยาฉีดในกลุ่ม Biologics ซึ่งในปัจจุบันผลการรักษาดีมาก แต่มีราคาแพง การรักษาหรือดูแลโรคสะเก็ดเงิน หากพูดถึงเรื่องยา จะดูตามความมากน้อยของผื่น อย่างไรก็ดีสะเก็ดเงินยังไม่ใช่โรคที่รักษาให้หายขาดได้

sil

เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจึงพยายามรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือก เช่นยาไทย ยาจีน ทั้งนี้ถ้าหากใช้สมุนไพร ควรจะต้องทราบถึงที่มาที่ไป สามารถลองทาเพื่อรักษาให้ผื่นดีขึ้นได้ แต่ในการใช้ยารับประทานในบางกรณีการลองยาอาจ เกิดตับอักเสบ หรือ ทานยาแล้ว ผื่นขึ้นมาหนักกว่าเดิมบ้างจึงควรระวังอย่างยิ่ง สิ่งสำคัญจะต้องมีการศึกษา เพื่อหายาที่มีทั้งประสิทธิภาพ และ ลดผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น มีการตรวจติดตามผลของการใช้ยาให้มีความเหมาะสมกับขนาดของโรค

ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินต้องมีความเข้าใจในตัวโรคสะเก็ดเงิน มองโลกในแง่บวก และปรับตัวอยู่กับโรคสะเก็ดเงินได้อย่างมีความสุข คนในครอบครัวและสังคมรอบข้างต้อง ให้รอยยิ้ม ให้กำลังใจผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยมีอาชีพ มีงานทำ เพราะ สะเก็ดเงินไม่ใช่โรคร้าย ผู้ป่วยอยู่ได้ด้วยความเข้าใจ

sil3

e-book-1-503x62