นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักโฆษกหน้าตี๋ “หมอศิลป์ หรือ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน” ที่จะมาทักทายคุณผู้ชมก่อนเที่ยง รายงานสถานการณ์โควิดทั้งไทยทั้งเทศ อัพเดทมาตรการคุมระบาดใหม่ๆแบบอินไซด์วงประชุม พร้อมกับชี้แจงข่าวลือข่าวลวง แทน “นายกลุงตู่” ในนาม“ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19. ) หรือ ศบค.
“หมอทวีศิลป์” มาได้ถูกจังหวะ ถูกที่เวลา ท่ามกลางพายุไวรัสโควิดถาโถมผสมปนเปถล่มระบบการสื่อสารที่สังคมเชื่อใจได้ของรัฐบาล เป็นช่วงจังหวะที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ต้องการใครสักคน ที่ไม่ใช่ใครก็ได้ ไม่มีภาพลักษณ์ทางการเมืองให้คนร้องยี้ เข้าใจงานด้านสาธารณสุข พูดจารู้เรื่องอักขระชัดถ้อยชัดคำ และเข้าใจหัวอกของประชาชน ว่าควรหรือไม่ควรสื่อสารว่าอะไรในยามนี้ หลังจากนายกรัฐมนตรี ประกาศใช้อำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 26 มีนาคม 2563
พร้อมกับเลือกด้วยตัวเองว่าขอให้ “หมอทวีศิลป์” อัพเกรดจากโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ผู้ที่นั่งแถลงสถานการณ์รายวันอยู่ที่กระทรวงฯ มาทำหน้าที่เป็นขุนพลด่านหน้าในการคุมโทนการสื่อสารข้อมูลนับจากนั้นเป็นต้นมา และลีลาการแถลงการณ์ และตอบคำถามสารพัดคำถามจากสื่อมวลชนและจากทางบ้านของโฆษกหน้าตี๋คนนี้ เป็นที่พออกพอใจของลุงตู่ทุกครั้งเพราะนั่งมอนิเตอร์ดูการแถลงด้วยตัวเองถ้าพอจะมีเวลา
ภายใต้ความกดดันในสถานการณ์ที่ “พลาดไม่ได้แม้แต่ประโยคเดียว” เมื่อย้อนดูเส้นทางชีวิตของหมอทวีศิลป์ เรียกว่าผ่านความกดดันมาแทบทุกช่วงของชีวิต ชนิดที่พลาดไม่ได้เลยสักช่วง
ภูมิลำเนาของ อยู่ที่เมืองโคราช กับครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำราย มีอาชีพค้าขาย เปิดร้านโชวห่วย อยู่หน้าตลาดเทศบาล 2 วัยเด็กของด.ช.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน หรือชื่อเล่น “ศิลป์” ต้องช่วยพ่อแม่ขายของทุกวัน วันหนึ่งชีวิตเกิดหักเหเมื่อคุณพ่อประสบอุบัติเหตุต้องขาพิการ
ครอบครัวต้องพลิกชีวิตแบบหน้ามือเป็นหลังมือ จากที่เคยอยู่ที่ตลาด ก็ต้องย้ายออกมาอยู่นอกเมือง บนที่ดินที่พ่อสะสมเงินซื้อไว้แถวชานเมืองโคราช เนื้อที่ประมาณ 100 ตารางวา ริมทางรถไฟถนนมิตรภาพ เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ กำลังหลักในครอบครัวเปลี่ยนมือจากพ่อแม่ กลายเป็นแม่และลูก 5 คน คนโตชื่อ ทวีศักดิ์ ต่อมาคือ ทวีศิลป์ คนกลางชื่อ ทวีชัย ถัดไปชื่อ ทวีโชค และน้องคนเล็ก รวีวรรณ เป็นผู้หญิงคนเดียว
ทั้ง 5 คน เป็นกำลังเสริมให้กับแม่ โดยมีด.ช.ทวีศิลป์ลูกคนที่ 2 ต้องเลี้ยงหมูขาย วิดบ่อหาปลาแถวนั้นเพื่อนำไปขาย ขายก๋วยเตี๋ยว ขายของทุกอย่าง ที่ขายได้ ทำขนมผิง พับถุง เพื่อประคองครอบครัว บางวันลำบากถึงขนาดไม่มีข้าวจะกรอกหม้อ ไม่มีอะไรให้หมูกิน ด.ช.ทวีศิลป์ต้องเดินไปขอ “น้ำข้าว” ตามบ้านมาเลี้ยงหมู
จากบ้านไปโรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา ต้องนั่งสามล้อนั่งไปกลับ ต้องเก็บผักตบชวามาซอยผสมรำข้าวกับน้ำข้าว โดยมีช่วยพ่อหาฟืนจากญาติที่ทำเฟอร์นิเจอร์ นำขี้เลื่อยจากเศษไม้เป็นฟืนต้มข้าวหมู เมื่อเข้าวัยมัธยม ชะตาชีวิตยังไม่ปิดกั้น ได้เรียนต่อที่โรงเรียนบุญวัฒนา
ในความลำบากยังมีความฝันของพ่อแม่ ที่ตั้งใจอยากให้ด.ช.ทวีศิลป์และลูกๆ โตมาขึ้นมามีอาชีพเป็นหมอ เพราะเชื่อว่า "เราจะเปลี่ยนแปลงความทุกข์ยากของเราได้ ก็คือ การได้เป็นหมอ ได้เรียนดีๆ" ความฝันของพ่อแม่ดูจะสวนทางกับความคิดของลูกชายที่รู้ตัวเองดีกว่าไม่ได้เป็นคนหัวดี และความจริงที่ถันดและชอบคือด้านศิลปะ เพราะเคยประกวดได้เงินรางวัล
จบมัธยมอันดับคะแนนอยู่ต้นๆของสายวิทย์-คณิต และสอบติด “จิตแพทย์” โควต้าแพทย์ชนบท ที่คณะแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น พอเรียนจบแพทย์ปี 6 เริ่มทำงานที่โรงพยาบาลจิตเวช นครราชสีมา มองเห็นแล้วว่าไม่ค่อยมีคนสนใจเข้ามาเป็นจิตแพทย์ และโชคดีว่าที่โคราชบ้านเกิดมีตำแหน่งให้ลงพอดี แต่ละวันต้องอยู่กับคนไข้ที่มาปรึกษาปัญหาทางจิตมีหลากหลาย ทั้งวิตกกังวล ความเครียด บ้างก็มาแบบหลงลืมตัว หมดสติ อาละวาด คลุ้มคลั่ง ทำร้ายตัวเอง กินยาฆ่าตัวตาย
หลังจากนั้นก็ได้เข้าเรียนที่ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา (ปัจจุบันชื่อ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา) และได้เข้าทำงานที่นี่ และทำหน้าที่สอนนักศึกษาแพทย์ควบคู่กันไป จนปี 2537 ก็ตัดสินใจไปเรียนต่อเพิ่มเติมด้านจิตเวชที่ชิคาโก สหรัฐอเมริกา ทางด้านประสาทจิตเวชศาสตร์
แต่จุดพลิกผันเป็นช่วงที่อยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ทำหน้าที่ตอบคำถามเรื่องจิตเวชผ่านสื่อต่างๆ ดูแลงานด้านวิชาการ ทำให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป จนกลายเป็นผู้ตอบคำถามทั้งหลายให้กับทางกรมสุขภาพจิต จนกระทั่งปี 2546 - 47 ขณะที่เป็นนายแพทย์ระดับ 8 ได้รับโอกาสเข้ามาทำงานอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข เริ่มจากการเป็นโฆษกกรมสุขภาพจิต แล้วขึ้นเป็นผู้อำนวยการสำนักสุขภาพจิตและสังคม พร้อมดำรงตำแหน่งโฆษกกระทรวงสาธารณะสุข
จนก้าวขึ้นมาเป็นที่รู้จักในนาม โฆษกศบค. ในตอนนี้
ฟัง "หมอทวีศิลป์" ร้องเพลงส่งแรงใจให้คณะแพทย์ มข.