"อาจารย์วีรธรรม" เล่าว่า กลุ่มจันทร์โสมา มีจุดเริ่มต้นจากเมื่อครั้งที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชเสาวนีย์ให้อาจารย์สมิทธิ ศริภัทร์ และคุณหยิงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี หาวิธีผลิตผ้าไหมให้มีเนื้อนุ่มเนียน คุณภาพเทียบเท่าผ้าไหมโบราณ อาจารย์วีรธรรมจึงได้อาสากลับมารือฟื้นกระบวนการผลิตผ้าไหมของบรรพบุรุษ จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการฟื้นฟูการทอผ้าแบบราชสำนัก
การทอผ้าไหมของกลุ่มจันทร์โสมา มีความโดดเด่นที่ความละเอียด และความนุ่มของเนื้อผ้า ที่เกิดจากการเลือกเส้นไหมเส้นเล็กและบางเบา นำมาผ่านกรรมวิธีฟอกต้ม และย้อมด้วยสีธรรมชาติ แม่สีหลัก 3 สี คือ สีแดงจากครั่ง สีเหลืองจากแก่นแกแล และสีครามจากเมล็ดคราม สอดแทรกการยกดอกด้วยไหมทอง ที่ทำจากเงินแท้มารีดเป็นเส้นเล็กๆ ปั่นควบกับเส้นด้าย มีเทคนิคการทอแบบเนื้อ 3 ตะกอ ที่ใช้ตะกอเส้นพุ่งพิเศษที่ทำให้เกิดลายจำนวนตะกอมากกว่าร้อยตะกอ จึงต้องใช้คนทอถึง 4-5 คนต่อผืน
ความละเอียดของการทอและเนื้องาน ทำให้ต่อวันทอได้แค่ 5-7 เซนติเมตรเท่านั้น ต่อผืนที่มีความยาว 2 เมตร ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ดังนั้น ราคาของผ้าไหมยกทองของจันทร์โสมามีราคาเฉลี่ยถึงเมตรละ 5 หมื่นบาท จนถึงหลักแสนบาท
นอกจากโรงทอ "อาจารย์วีรธรรม" ยังสะสมผ้าโบราณจำนวนหลายพันผืน ซึ่งได้จัดเก็บรักษาเป็นอย่างดี เพราะผืนผ้าแต่ละชิ้นล้วนมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และคุณค่าทางภูมิปัญญา โดยอาจารย์กำลังก่อสร้างอาคารต่างๆ เพื่อจัดเป็นสถานที่แสดงนิทรรศการ และพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ ซึ่งน่าจะได้เห็นภายใน 4-5 ปีต่อจากนี้
"เราจะจัดแสดงคอลเลคชั่นแต่ละปี เป็นนิทรรศการเวียนปีละเรื่อง ปีแรกอาจจะทำเรื่องผ้าในประเทศไทยทั้งหมด"
"อาจารย์วีรธรรม" เล่าถึงเกร็ดเล็กๆ ความเป็นมาของสุรินทร์ ที่เป็นเมืองภูมิปัญญาการทอผ้าของภาคอีสาน ที่สมัยก่อน ไม่มีเสื้อผ้าสำเร็จรูป เพราะฉะนั้นผู้หญิงในแต่ละบ้าน จะต้องเรียนรู้การทอผ้า เพื่อทอใช้กันเองในครอบครัว ยิ่งผู้หญิงคนไหนทอผ้าได้สวย ลายผ้างดงาม จะยิ่งเป็นผู้หญิงที่มีคุณค่ามาก ถือเป็นหน้าเป็นตาของครอบครัว ใครจะมาขอจะมีค่าสินสอดสูง แต่ถ้าหญิงคนใดทอผ้าไม่เป็น ก็จะเป็นเรื่องน่าอับอาย ไม่มีใครมาขอไปเป็นแฟน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนสุรินทร์เก่งเรื่องผ้าทอมากๆ
ผ้าโบราณที่อาจารย์สะสม เริ่มมาตั้งแต่สมัยยังเรียนหนังสือ ด้วยความที่บ้านทอผ้ามาตั้งแต่สมัยปู่ย่า ตายาย จึงทำให้เกิดความสนใจและศึกษาจริงจังมาเรื่อยๆ ผ้าที่จัดเก็บไว้ มีทุกภูมิภาคและชาติพันธุ์ รวมไปถึงผ้าราชสำนัก และที่มีมากที่สุดคือผ้าอีสาน เพราะนักสะสมสส่วนใหญ่จะไม่ค่อยสนใจผ้าอีสาน ทำให้ไม่ต้องไปแย่งกับใคร และคนอีสาน ก็ให้คุณค่ากับผ้าโบราณมาก เพราะถือเป็นของให้โชคให้ลาภประจำบ้าน
ระหว่างรออาคารทุกอย่างเสร็จ เพื่อเปิดเป็นนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ อาจารย์บอกว่า มีคนสนใจศึกษาผ้าโบราณ ติดต่อขอเข้ามาชมได้เช่นกัน สำหรับกลุ่มสื่อมวลชนที่มีโอกาสได้เข้าชมงานศิลป์ที่ทรงคุณค่าครั้งนี้ ต้องขอบคุณทางกลุ่มเซ็นทรัล ที่จัดทริปพิเศษ ให้ความรู้กับคณะเดินทางทุกคน
หน้า 24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3,621 วันที่ 25 - 28 ตุลาคม พ.ศ. 2563