ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา วิศวกรออกแบบชีวิต, ผู้ก่อตั้งมูลนิธิบ้านอารีย์ และสมาคมบ้านปันรัก เปิดเผยว่า “SDGs อาชีพแห่งอนาคต” ถือเป็น Mega Trend ของโลกในขณะนี้ ใครที่สามารถมองหาช่องทาง คว้าโอกาสทองในการแก้ปัญหา ปิดช่องว่างให้ผู้คนได้ก่อน ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงมาก เพราะปัญหานี้เป็น “ความต้องการแท้” ที่ประเทศสมาชิกทั่วโลกประสบและต้องการให้แก้ไข รวมถึงต้องช่วยกันผลักดันให้แล้วเสร็จ ซึ่งหากมองในมุมของการทำธุรกิจ ใครที่สามารถนำเสนองานขององค์กรตอบโจทย์ปัญหาเหล่านี้ ก็จะได้รับแรงสนับสนุนจากรัฐบาล ไปจนถึงนักลงทุนระดับโลก ที่ปัจจุบันจะพิจารณาสนับสนุนองค์กรจากคะแนน SDGs Score ด้วย
สำหรับ SDGs หรือ Sustainable Development Goals องค์การสหประชาชาติได้ทำการสำรวจและสรุปปัญหาระดับโลกออกมา เป็นแนวททางปฏิบัติมีทั้งสิ้น 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบไปด้วย 169 เป้าหมายย่อย (SDGs Targets) ที่มีความเป็นสากล เชื่อมโยงและส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยสามารถจัดกลุ่ม SDGs ตามปัจจัยที่เชื่อมโยงกันใน 5 มิติ (5P) ได้แก่
เป้าหมายทั้ง 17 เป้าหมาย ประกอบด้วย
เป้าหมายที่ 1: ขจัดความยากจน
เป้าหมายที่ 2: ขจัดความหิวโหย สร้างความมั่นคงทางอาหาร และส่งเสริมให้คนทุกวัยมีโภชนาการที่เหมาะสม
เป้าหมายที่ 3: สร้างหลักประกันด้านสุขภาพ สุขภาวะที่ดี และส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย
เป้าหมายที่ 4: ส่งเสริมให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
เป้าหมายที่ 5: ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิง
เป้าหมายที่ 6: สร้างหลักประกันในการจัดการน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน
เป้าหมายที่ 7: สร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา
เป้าหมายที่ 8: ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน
เป้าหมายที่ 9: สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม
เป้าหมายที่ 10: ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ
เป้าหมายที่ 11: ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน
เป้าหมายที่ 12: ส่งเสริมรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
เป้าหมายที่ 13: มีกระบวนการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมและรวดเร็ว
เป้าหมายที่ 14: อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
เป้าหมายที่ 15: ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ลดการกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
เป้าหมายที่ 16: ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรมและสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผลรับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ
เป้าหมายที่ 17: เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน
ผศ.ดร.วีรณัฐ ยังได้กล่าวเสริมในประเด็นการหาอาชีพนี้อีกว่า โดยส่วนตัวให้คำปรึกษากับบุคคลทั่วไปในการหาอาชีพจาก SDGs พบว่า คนจำนวนมาก มักนึกไม่ถึงในประเด็นปัญหาที่อยู่ใน 17 ข้อนั้นว่าเป็นปัญหาระดับโลก ทำให้ละเลยโอกาสงานนี้ไป จนเมื่อได้ศึกษาโดยเฉพาะเจาะลงลึกในรายละเอียดย่อยของแต่ละเป้าประสงค์ใน 17 ข้อ ซึ่งมีแยกย่อยไปอีกมาก ก็จะยิ่งทำให้เจองานที่ตนอยากทำและถนัดได้ง่าย
อยากแนะนำทุกคนที่กำลังแสวงหาแนวทาง ลองศึกษา SDGs อย่างละเอียด เพราะ SDGs เป็นโอกาสทองในการทำธุรกิจ ซึ่งให้ช่องทางได้อย่างครบถ้วน ครอบคลุมแบบไม่ต้องลงทุนเสียเงินทำวิจัยด้วยตนเอง และหากสามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ ใส่นวัตกรรมลงไปในสินค้าและบริการควบคู่ลงไปด้วย ยิ่งทำให้ธุรกิจแข็งแกร่ง ปราศจากคู่แข่ง สามารถเรียกได้อย่างเต็มปาก ธุรกิจของเราจะเติบโตอย่างมั่นคง และยั่งยืนไปพร้อมกัน
"จากผลการศึกษาพบว่า นักศึกษาในวันนี้จำนวน 100 คน จะมีถึง 65 คน ที่ในอนาคตจะต้องประกอบอาชีพที่ยังไม่เคยมีในวันนี้ เพื่อแก้ปัญหาที่ยังไม่ปรากฏหรือเป็นปัญหาใหม่ที่อาจยังไม่ได้รับการแก้ไข นั่นหมายถึง หากใครสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ ความสามารถ ทักษะของตนหรือขององค์กร ให้สามารถแก้ไขปัญหา SDGs ได้ก่อน เท่ากับกำลังทำอาชีพแห่งอนาคต ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน
สรุปได้ว่า “SDGs อาชีพแห่งอนาคต” คือ Mega Trend ที่จะเป็นโอกาสทองของคนที่มองเห็น แต่เป็นหายนะของคนที่มองข้าม” ใครที่คว้าโอกาสได้ย่อมประสบความสำเร็จ แต่ใครที่ละเลยย่อมถูกตัดโอกาสในการเติบโต ถูกตัดเงินสนับสนุนลงทุนจากภาครัฐและเอกชน และสุดท้ายจะล้มหายตายจากแวดวงธุรกิจในที่สุด SDGs ไม่ใช่เรื่องในระดับรัฐบาล เพราะ SDGs เป็นปัญหาระดับโลก ที่ทุกคนซึ่งเป็นพลเมืองโลกต้องร่วมมือกันทำจึงจะประสบความสำเร็จ ที่ทุกคนสามารถเริ่มต้นได้จากตัวเราเอง