จากข้อมูลตัวเลขมูลค่าของตลาดสินค้าและบริการเพื่อสุขภาพ (Wellness) ล่าสุด ในประเทศไทย มีมูลค่าสูงถึง 65,000 ล้านบาท และยังมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะเติบโตต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า คนไทยตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น อันมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ปัญหาเรื่องมลพิษฝุ่นควัน รวมถึงวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
“วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ” (College of Integrative Medicine: CIM) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้ประเมินว่า ธุรกิจหรืออาชีพที่ว่าด้วยเรื่องของการดูแลสุขภาพ การบริโภคเพื่อเป็นยา รวมไปถึงศาสตร์แห่งการชะลอวัย ดูจะเป็นที่สนใจกันมากขึ้น จึงทำให้หลักสูตรหรือคณะวิชาเหล่านี้ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของน้องๆ ที่กำลังเลือกสาขาวิชาเพื่อการศึกษาต่อ หรือคนทำงานที่กำลังจะ Upskill Reskill ตัวเอง เพื่ออาชีพที่มั่นคงขึ้นในอนาคต
สำหรับคนที่กำลังพุ่งเป้ามาทางสายนี้ ลองมาทำความรู้จักกันก่อนว่าธุรกิจหรืออาชีพในสายเวลเนส (Wellness) นั้นมีอะไรที่น่าสนใจ และต้องเรียนหรือฝึกทักษะอะไรบ้าง
สายบิวตี้ - เจ้าของแบรนด์เกี่ยวกับสุขภาพและความงาม ผู้บริหารสถานพยาบาลเจ้าของธุรกิจสถาบันเสริมความงาม ผู้ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพและความงามหรือสายอาชีพยอดฮิตอย่าง บิวตี้ บล็อกเกอร์ (Beauty Blogger) และ Fitness Trainer เป็นสายอาชีพที่จะมีความต้องการเป็นอย่างมากในอนาคต ที่มนุษย์จะยินดีจ่ายเพื่อการมีสุขภาพที่ดีและความงามอย่างยั่งยืน ซึ่งหากใครที่สนใจอาชีพกลุ่มนี้ จะต้องศึกษาใน สาขาวิชาบูรณาการสุขภาพและความงาม (Integration of Health and Beauty: HB) ซึ่งจะสอนในเรื่องวิทยาศาสตร์การแพทย์ การมีสุขภาพที่ดีและความงามที่ยั่งยืน ทั้งการศึกษาวิเคราะห์ และคิดค้นสูตรผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม เรียนรู้การดูแลสุขภาพ และความงามแบบมืออาชีพ
เทรนด์ของตลาดธุรกิจสุขภาพและความงาม รวมถึงต้องมีการฝึกฝนทักษะ ลงมือปฏิบัติในห้องปฏิบัติการที่ได้ระดับมาตรฐาน ทั้งห้องปฏิบัติการด้านความงาม (Beauty Lab) ห้องปฏิบัติการด้านสปา (Spa Training Room) และห้องปฏิบัติการด้านการออกกำลังกาย (Fitness Training Room) โดยในบางมหาวิทยาลัยเมื่อจบการศึกษาปริญญาตรี ยังได้รับใบประกาศนียบัตรหลักสูตรการบริการเพื่อความงามจากกระทรวงสาธารณสุข ใบประกาศนียบัตรมาตรฐานฝีมือแรงงานสาขา นักส่งเสริมสุขภาพ รวมถึงสิทธิยื่นสอบใบรับรองผู้ดำเนินการสปา เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับการทำงาน หรือประกอบอาชีพได้ทันที
สายเชฟ – เจ้าของคาเฟ่หรือร้านอาหารเพื่อสุขภาพเท่ ๆ ฟู้ดสไตลิสต์ นักโภชนาการในโรงพยาบาลหรือศูนย์สุขภาพ เจ้าของธุรกิจร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ จะเป็นอีกหนึ่งศาสตร์ที่สำคัญมากในอนาคต เพราะในอนาคตเชฟจะไม่ใช่แค่ผู้มีฝีมือหรือหลงใหลในการทำอาหารให้อร่อยเท่านั้น แต่จะต้องเป็นผู้มีที่ความรู้ด้านโภชนศาสตร์ มีความรู้ลึกถึงขั้นวัตถุดิบ สามารถทำการออกแบบและวางแผนการทำอาหาร ที่ตอบโจทย์เทรนด์หรือปัญหาด้านสุขภาพได้
สำหรับคนที่มุ่งหวังจะเดินทางสายนี้ แนะนำให้ลองหาข้อมูลเกี่ยวกับ สาขาวิชาการประกอบอาหารเพื่อสุขภาพ (Culinary for Health: FC) เพราะเป็นหลักสูตรที่ให้ความรู้ด้านอาหารเพื่อสุขภาพตามหลักโภชนาศาสตร์ โดยจะได้เรียนรู้ตั้งแต่การเลือกสรรวัตถุดิบ เพื่อมาปรุงอาหาร การโภชนศาสตร์ อาหารรักษาโรค อาหารชะลอวัย พร้อมฝึกลงมือทำอาหารทุกรูปแบบ ทั้งอาหารไทย อาหารสุขภาพ เบเกอรี่ ขนมหวาน อาหารนานาชาติ และเครื่องดื่ม ในห้องปฏิบัติการครัว (Chef Lab) และห้องปฏิบัติการเบเกอรี่ (Bakery Lab)
นอกจากนี้ ยังจะได้เรียนรู้ด้านศิลปะสร้างสรรค์ เพื่อนำไปปรับใช้กับสายอาชีพ เช่น การถ่ายภาพ การตกแต่งอาหาร กราฟิกดีไซน์ และการออกแบบเมนูอาหาร เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว ยังจะได้รับประกาศนียบัตรมาตรฐานฝีมือแรงงานสาขาผู้ประกอบการอาหารไทย ระดับ 1 ติดไม้ติดมือมาเป็นเครื่องช่วยการันตีความเป็นมืออาชีพด้วย
สายแพทย์ทางเลือก - เจ้าของคลินิกการแพทย์แผนไทย เจ้าของธุรกิจยา และผลิตภัณฑ์สมุนไพร เจ้าของธุรกิจมารดาหลังคลอด ผู้ประกอบการโรงงานผลิตสมุนไพร แพทย์แผนไทยประจำโรงพยาบาลของรัฐ เอกชน คลินิก หรือสถานประกอบการ นักวิจัยยาและผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร แม้มนุษย์จะเดินทางเข้าสู่ยุค AI แต่ศาสตร์แพทย์ทางเลือกก็จะยังคงได้รับความนิยม โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยได้เข้าสู่ยุคสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society) อาชีพหรือธุรกิจในสายนี้จึงจะเป็นที่ต้องการของตลาด
สำหรับใครที่สนใจอาชีพในแขนงนี้ หรืออยากเป็นเจ้าของธุรกิจด้านสุขภาพ ลองศึกษาใน สาขาการแพทย์แผนไทย (Thai Traditional Medicine: TM) ซึ่งจะสอนด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและการป้องกันโรคด้วยการแพทย์ทางเลือกอย่างครบวงจร รวมถึงวิธีการตรวจรักษาทางการแพทย์แผนไทยและสามารถประยุกต์ความรู้กับศาสตร์การแพทย์แผนปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม เรียนรู้การป้องกันโรค การเจ็บป่วยทางการแพทย์ และฝึกการตรวจวินิจฉัยโรค
รวมถึงการเรียนรู้เทคนิคการทำยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งผู้ที่ไม่ได้จบสายวิทยาศาสตร์ก็ไม่ต้องกังวล เพราะมีการปรับพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้ในชั้นปีแรก และเมื่อจบการศึกษาจะได้รับปริญญาบัตร และมีสิทธิ์สอบใบประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ เวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย การนวดไทย และผดุงครรภ์ไทย
สำหรับคนที่สนใจสายอาชีพมาแรงทั้ง 3 สายนี้ ในประเทศไทยมีหลักสูตรที่เปิดสอนภายใต้ชื่อหลักสูตร การแพทย์บูรณาการ หรือที่เรียกว่า การแพทย์ผสมผสาน เป็นการนำการปฏิบัติของการแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์ทางเลือก การแพทย์แผนไทย รวมถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ ๆ มาผสานเข้าด้วยกันเพื่อดูแลสุขภาพแบบองค์รวม