8 เทคนิคการสื่อสารแบบมีสกิลของผู้นำที่ดี

09 ส.ค. 2564 | 07:29 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2564 | 14:42 น.

"ทักษะการสื่อสาร" นับเป็นคุณสมบัติสำคัญสำหรับผู้นำ ในการสร้างผลกระทบและช่วยเร่งประสิทธิภาพประสิทธิผลทั่วทั้งองค์กร เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาและคนในทีม มีความเข้าใจในเป้าหมาย พร้อมขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จไปในทิศทางเดียวกัน

ผู้สื่อข่าวรายงาน แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ในฐานะที่ปรึกษาด้านแรงงานเชิงนวัตกรรม ได้พูดถึง การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้และจำเป็นสำหรับทุกองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อก้าวไปสู่ Next Normal 

 

ผู้นำที่สามารถสื่อสารเป้าหมาย ภารกิจ และวิธีการทำงานด้วยความชัดเจนและโปร่งใส ก็จะประสบความสำเร็จในการนำองค์กรผ่านความไม่แน่นอน และในขณะเดียวกันก็รักษาความสามัคคีและความแข็งแกร่งของทีมได้ 

8 เทคนิคการสื่อสารแบบมีสกิลของผู้นำที่ดี

แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ได้สรุป 8 เทคนิคการสื่อสารแบบมีสกิลของผู้นำที่ดี ได้แก่ 

 

  1. เริ่มจากการฝึกวางความคิดให้เป็นระบบง่ายๆ ก่อน เพราะการที่ผู้นำจะสื่อสารให้ชัดเจนได้ ต้องมาจากกระบวนการคิดที่มีระบบ มีความชัดเจนก่อนจะสื่อสารไปยังทีม เพื่อจะทำให้ทุกคนเข้าใจได้ง่าย พร้อมมีประสิทธิภาพ
  2. ใช้วิธีการสื่อสารที่แตกต่างกันไปตามสถานการณ์และเวลา เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งการสื่อสารระหว่างบุคคล (Interpersonal   Communication), การสื่อสารในองค์กร (Internal Communication), การสื่อสารกับลูกค้าที่มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (Stakeholder Communication) ที่สำคัญอย่างยิ่ง ต้องใช้วิธีสื่อสารที่ถูกต้อง เข้าใจสถานการณ์ และเลือกเวลาให้เหมาะสมที่สุด
  3. การตั้งใจฟังอย่างเข้าใจในสิ่งที่คนอื่นสื่อสาร ผู้นำที่ดีจะสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจ ก็ต้องเข้าใจคนอื่นก่อน ต้องเข้าใจสารที่ผู้สื่อสารกำลังสื่อ ไม่คิดไปเอง ถ้าเข้าใจแล้ว ผู้นำก็จะสื่อสารได้ตรงประเด็นยิ่งขึ้น
  4. การสื่อสารแบบสองทาง (Two way communication) ผู้นำที่ดีควรจะต้องเรียนรู้วิธีการใช้คำถามแบบปลายเปิด เช่น ทำไม เพราะอะไร อย่างไร ไม่ควรใช้คำถามปลายปิด เพราะไม่เกิดประโยชน์หากเราใช้คำถามถูก จะทำให้เกิดผลการตอบรับที่ดีและสามารถต่อยอดการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  5. การใช้ช่องทางสื่อหรือเครื่องมือให้เหมาะสม ด้วยยุคปัจจุบันมีช่องทางการสื่อสารหลากหลายช่องทาง ดังนั้น ผู้นำที่ดีควรเลือกให้เหมาะสม ไม่ว่าการสื่อสารผ่านทางอีเมล  การใช้โซเชียลมีเดีย การสื่อสารทางตรง (Direct Communication) และอื่นๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดของแต่ละกลุ่มที่ต้องการสื่อสาร
  6. เอาใจเขามาใส่ใจเรา หลีกเลี่ยงคำพูด การประชดประชัน กระทบกระเทียบ ซึ่งมีแต่สร้างความขัดแย้งและไม่เกิดประโยชน์ ทำให้มีแต่ผลเสียตามมา ในฐานะผู้นำจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาและทีม
  7. ภาษากายเป็นเรื่องสำคัญ ไม่พูดแทรก ไม่ตัดบทหรือเปลี่ยนเรื่องทันที รอให้ผู้อื่นสื่อสารจบนอกจากนั้นผู้นำที่ดีควรใช้ภาษากายแสดงออกว่าตั้งใจฟังอยู่ เช่น สบตาแบบมีไมตรี ยิ้ม พยักหน้าเบาๆ ให้เกียรติผู้สื่อสารก่อนเสมอ
  8. การรักษาคำพูด ผู้นำควรรักษาสัญญา และทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีเสมอ

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 8 เทคนิคการสื่อสารแบบผู้นำที่ดี เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง รวมทั้ง การใช้น้ำเสียงบุคลิกภาพ รวมถึงภาษากายที่เหมาะสม หากผู้นำสามารถเข้าใจและใช้เทคนิคดังกล่าวได้ดี ก็สามารถบรรลุเป้าหมายไปกว่าครึ่ง 

 

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าในการบริหารงานและบริหารคนยุคปัจจุบัน ยังมีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นด้านวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา ภาษาและเจเนอเรชั่น ดังนั้น ผู้นำที่ดีควรวางแผน ออกแบบ และสื่อสารด้วยวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสมกับผู้รับสารตามกาลเทศะ