ในภาวะที่เรายังต้องรักษาระยะห่าง ป้องกันความเสี่ยงของการแพร่ระบาดโควิด -19 ประกอบการเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก และกระทบไปถึงเงินบริจาคที่ลดปริมาณลง “สิรีรัตน์ คอวนิช” ผู้อำนวยการ-ธุรกิจบัตรเครดิต “เคทีซี” กล่าวว่า ในฐานะที่เคทีซีเป็นช่องทางสื่อกลางในการส่งต่อเงินบริจาค เคทีซีให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการบริจาคให้ถึงมือผู้เดือดร้อน ด้วยการจัดทำแพลทฟอร์ม ทั้งโมบายแอปพลิเคชั่น การแลกคะแนนผ่าน QR Point QR Pay รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์ เพื่อแจ้งไปยังผู้มีจิตศรัทธาในการบริจาค เป็นการอำนวยความสะดวกและตอบรับกับวิถี New Normal ในการส่งต่อความช่วยเหลือสู่ พันธมิตรมูลนิธิและองค์กรการกุศลกว่า 60 แห่ง
ในปีที่ผ่านมา ยอดการบริจาคผ่านบัตรเครดิตเคทีซีด้วยคะแนน KTC FOREVER กว่า 50 ล้านคะแนน ยอดเงินบริจาครวมกว่า 300 ล้านบาท ส่วนปีนี้เมื่อเกิดการระบาดโควิด-19 ระลอก 3-4 หลายๆ ท่านประสบภาวะยากลำบาก ทำให้ยอดบริจาคลดลงประมาณ 5%
ตัวเลขที่ลดลง สร้างผลกระทบให้กับมูลนิธิและองค์กรการกุศลหลายๆ แห่ง อาทิ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. สภากาชาดไทย มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม UNHCR ซึ่ง “ดร. บรรจงเศก ทรัพย์โสภา” ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ เล่าว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้มูลนิธิต้องปรับตัวหลายด้าน ทั้งการทำงานที่ต้องปรับเปลี่ยนจากรูปแบบเดิมมาใช้รูปแบบออนไลน์มากขึ้น และขณะนี้มูลนิธิฯ ได้จัดตั้งศูนย์พักคอยชุมชนและแยกกักกันในต่างจังหวัด เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว และยังขาดแคลนเวชภัณฑ์ อาหาร และสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นในการดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก
เช่นเดียวกับองค์กรการกุศลอื่นๆ ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนทุนทรัพย์และอุปกรณ์ที่จำเป็นอีกจำนวนมาก และมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง
“สิรีรัตน์” กล่าวว่า ในปีนี้ เคทีซี พยายามรณรงค์ให้มีการบริจาคแบบรายเดือนให้มากขึ้น เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการช่วยเหลือ ซึ่งผู้บริจาคสามารถแจ้งความประสงค์และเลือกมูลนิธิที่ต้องการสนับสนุนได้เลย โดยขณะนี้ มีการบริจาคแบบรายเดือนประมาณ 3 แสนคน ส่วนคะแนนสะสม ไม่ได้เปิดรับรายเดือน เพราะแต่ละคนมีคะแนนสะสมไม่เท่ากัน
หน้า 16-17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,710 วันที่ 2 - 4 กันยายน พ.ศ. 2564