วันนี้ (18 กันยายน 2564) กรมป่าไม้ จัดงานเนื่องในโอกาสครบรอบ125 ปี คล้ายวันสถาปนากรมป่าไม้ โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงานและมีพิธีมอบโล่ ให้แก่บุคคลและหน่วยงานที่ทำคุณประโยชน์แก่กรมฯ ประจำปี 2564 ซึ่งในปีนี้ ซีพีเอฟ ได้รับคัดเลือกให้รับโล่ในฐานะผู้ช่วยเหลือราชการกรมป่าไม้ สาขาการฟื้นฟูและพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ จากการดำเนินโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนองค์กร ซีพีเอฟ กล่าวว่า กรมป่าไม้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change) ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะเครือข่ายด้านความยั่งยืน ซึ่งคาดหวังว่ากรมฯ จะนำนวัตกรรมมาใช้ในการฟื้นฟูป่าให้รวดเร็วและขยายพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อปกป้องโลกของเรา และบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่อาจส่งผลต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้
ซีพีเอฟ ในฐานะบริษัทผู้ผลิตอาหารตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ จึงได้บูรณาการความร่วมมือ 3 ประสานกับกรมป่าไม้ และชุมชนรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง อนุรักษ์และฟื้นฟูป่า 6,971 ไร่ ในโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี และมีส่วนร่วมดำเนินการครบทั้งกระบวนการ ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการฯในปี 2559 สำรวจพื้นที่ ศึกษารูปแบบการปลูกป่า การวางแผนปลูกป่า ดูแลให้ต้นไม้ในพื้นที่เติบโต จนถึงกระบวนการเก็บข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์เพื่อเป็นฐานข้อมูลเปรียบเทียบ โดยมีจิตอาสาซีพีเอฟติดตามการดำเนินโครงการฯอย่างใกล้ชิด จนถึงปัจจุบันสภาพผืนป่ากลับสู่ความอุดมสมบูรณ์ ต้นไม้ที่เติบโตขึ้นสามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์
“ซีพีเอฟ สร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานจิตอาสา คู่ค้าธุรกิจ ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสีย ดำเนินกิจกรรมติดตามและดูแลผืนป่า อาทิ สร้างฝายชะลอน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผืนป่า จัดทำแนวกันไฟ กำจัดวัชพืชเพื่อส่งเสริมการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ การปลูกเสริมป่า และในช่วงที่เกิดสถานการณ์ระบาดของไวรัสโคโรน่า-2019 บริษัทฯ จ้างชุมชนในพื้นที่ติดตามดูแลผืนป่าอย่างต่อเนื่อง ช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น รวมไปถึงต่อยอดสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหารระดับชุมชน ผ่านการส่งเสริมทำโครงการปลูกผักวิถีธรรมชาติ และโครงการปล่อยปลาลงเขื่อน " นายวุฒิชัย กล่าว
ผืนป่าแห่งนี้ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูป่า สามารถเป็นต้นแบบให้กับการฟื้นฟูผืนป่าอื่นๆของประเทศ จากการใช้การปลูกป่าใน 4 รูปแบบ ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ช่วยย่นระยะเวลาการฟื้นฟูป่าได้เร็วกว่าปล่อยให้ฟื้นเองตามธรรมชาติ โดยที่ซีพีเอฟเข้ามาช่วยดูแลการปลูกป่า การจัดการเรื่องระบบน้ำเพื่อช่วยให้ต้นไม้ในพื้นที่เติบโต เพิ่มอัตราการรอดของต้นไม้ที่ปลูกได้เกือบ 100%
โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง นอกจากช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทยแล้ว ยังสนับสนุนเป้าหมายของเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือเครือซีพีที่มีเป้าหมายปลูกต้นไม้ 10 ล้านต้น มู่งสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2573 และเป็นโครงการที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs)ในประเด็นClimate Action ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ Life on Land ปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบกอย่างยั่งยืน