มีความยาวชายหาด 27 กม. มีชายหาด เช่น บริเวณอ่าวตานิด อ่าวไผ่ อ่าวโปร่ง อ่าวผาด อ่าวแดง บริเวณชายฝั่งรอบเกาะและเกาะใกล้เคียงจะพบแนวปะการังที่สมบูรณ์
ที่เกาะหมาก นอกจากจะเป็นเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เงียบ สงบ เหมาะแก่การพักผ่อน ยังเป็นต้นแบบการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ตามแนวทาง Circular Economy ซึ่ง องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)หรือ อพท. ได้ร่วมกับรัฐบาลเยอรมัน ผ่านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เพื่อพัฒนาเกาะหมากให้เป็นพื้นที่การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ ที่ดำเนินการมาแล้วราว 10 ปี
การพัฒนาเกาะหมาก ยังคงเดินหน้า ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon ต่างๆ มากมาย อาทิ การปั่นจักรยาน พายเรือคายัค การแล่นเรือใบ หรือแม้แต่การที่ชุมชนและผู้ประกอบการร่วมกันใช้โซลาร์เซลล์ ทดแทนการใช้ไฟฟ้า
“กฤษณ์ ภูมิสุวรรณ” รองผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 พัฒนาเกาะช้าง และพื้นที่เชื่อมโยง เล่าว่า อพท. ได้ร่วมกับภาคเอกชน อย่างบริษัท โคคา-โคล่า ประเทศไทย และบริษัทสตาร์ทอัพ GEPP Sa-Ard(เก็บสะอาด) ที่เข้ามาร่วมกันบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี
จากการพัฒนามากว่า 10 ปี ทำให้คนในเกาะหมากมีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และพร้อมดูแลปกป้องถิ่นฐานบ้้านเกิดของตัวเอง หลายแห่งมีการพัฒนาและสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน เช่น การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ การเดินทาง จากเดิมที่ใช้รถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ ก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็นจักรยาน เปลี่ยนจากการเล่นกอล์ฟ มาเป็นเล่นจานล่อน
นอกจากกิจกรรมการท่องเที่ยว ที่เน้นการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กระบวนการต่างๆ ยังพยายามให้ความสำคัญต่อการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย ไม่ว่าจะเป็น การเดินทาง การเข้าพัก ขยะ การดำน้ำ รับประทานอาหาร และอื่นๆ เพื่อให้สร้างผลกระทบต่อธรรมชาติให้น้อยที่สุด ทำให้ที่ผ่านมา เกาะหมากได้รับรางวัลการท่องเที่ยวเชิงสิ่งแวดล้อมมาแล้ว และเตรียมส่งเข้าประกวดในองค์กร Green Destination ซึ่งคาดว่าจะทำให้ได้รับรางวัลในปี 2570
ในยุคก่อน นักท่องที่ยวที่มาเกาะหมาก ส่วนใหญ่มาเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่เมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีนักท่องเที่ยวคนไทยเข้ามาเที่ยวมากขึ้น ทำให้ขณะนี้มีสถานที่พักแรมมากถึง 60-70 แห่งบนเกาะ ทาง อพท. และคนในท้องถิ่น รวมทั้งผู้เกี่ยวข้อง จึงจัดสร้างเป็นธรรมนูญเกาะหมาก 8 ข้อขึ้นมา เพื่อรณรงค์และดูแลขยะ รวมทั้งรักษาสิ่งแวดล้อม
หากใครมีโอกาสได้แวะเวียนไป ก็น่าจะได้พบเสน่ห์แปลกใหม่ของเกาะหมาก ที่แตกต่างไปจากเดิม วิถีชีวิตของคนบนเกาะเล็กๆ แห่งนี้ ได้เปลี่ยนไปแล้วภายใต้คอนเซ็ปต์ “การท่องเที่ยวแบบ Low Carbon” ซึ่งเป็นการท่องเที่ยว ที่จะช่วยยกระดับจังหวัดตราด ให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวพรีเมี่ยมระดับมาตรฐานโลกเลยทีเดียว
หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,719 วันที่ 3 - 6 ตุลาคม พ.ศ. 2564