จาก ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ ถึง 7+7 เชื่อมนักท่องเที่ยว สู่กรีนเดสติเนชั่น

11 ส.ค. 2564 | 02:44 น.

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เป็นการคิกออฟโครงการนำร่องฟื้นฟูเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งขณะนี้ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” มีแนวโน้มที่ดี ตอนนี้ก็เริ่มเดินหน้าสู่ การเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับพื้นที่นำร่อง 7+7 คือ

นักท่องเที่ยวพักในพื้นที่ภูเก็ต 7 วัน หลังจากนั้นสามารถเดินทางท่องเที่ยวและพำนักในพื้นที่นำร่อง ได้แก่ เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เกาะพีพี เกาะไหง และไร่เลย์ จังหวัดกระบี่ หรือ เขาหลัก เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา อีกอย่างน้อย 7 วัน กำหนดเริ่ม 1 สิงหาคม 2564

จาก ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ ถึง 7+7 เชื่อมนักท่องเที่ยว สู่กรีนเดสติเนชั่น

ทว่าพื้นที่นำร่อง ก็ไม่ได้จบแค่ 7+7 กับแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเกาะเท่านั้น “ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม” นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต บอกว่า จริงๆ แล้วนักท่องเที่ยวก็ไม่อยากอยู่ที่ใดที่หนึ่งนานเกินไป เขาอยากเดินทางไป ภูเก็ต พังงา เขาหลัก ซึ่งตุลาคม ก็จะมีอีก 10 พื้นที่นำร่อง ที่มีทั้งเกาะและไม่มีเกาะ ส่วนจะเป็นจังหวัดอะไร รอเคาะกันชัดๆ อีกทีดีกว่า

จาก ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ ถึง 7+7 เชื่อมนักท่องเที่ยว สู่กรีนเดสติเนชั่น

แต่...การจะเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวไปจังหวัดนำร่องต่างๆ ต้องอย่าลืมว่า ทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ไม่ใช่เอาเชื้อโควดิ -19 ไปกระจาย 

 “ภูมิกิตติ์” ย้ำว่า ปีนี้ไม่มีฤดูกาลท่องเที่ยว แต่ถ้าจะเปิดเมืองท่องเที่ยว เชื่อมต่อจากภูเก็ต โอเค โมเดลที่ภูเก็ตทำไว้ หลายอย่างดี และสามารถนำไปก็อปปี้ทำต่อ แต่ต้องอย่าลืมว่า ในแต่ละพื้นที่มีสภาพแวดล้อม และปัจจัยรอบด้านต่างกัน เพราะฉะนั้น ต้องเช็คลิสต์ 4 เรื่องหลัก เริ่มจาก
  จาก ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ ถึง 7+7 เชื่อมนักท่องเที่ยว สู่กรีนเดสติเนชั่น

1.วัคซีนในพื้นที่ได้พอไหม ถ้าได้ไม่มากพอ จะกลายเป็นว่าเปิดแล้วก็ต้องปิดใหม่อีก และเรื่องของ “วัคซีน เกม” ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองกันดีๆ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่เป็นระดับโลกกันเลยทีเดียว  2. ระบบสาธาธารณสุขพร้อมไหม รองรับเรื่องอาจเกิดขึ้นโดยที่ไม่คาดคิดได้หรือไม่ ระบบเฮลท์แคร์สำคัญมากๆ 3. ระบบเทคโนโลยี ภูเก็ตโชคดีเพราะมีสมาร์ทซิตี้ ส่วนจังหวัดอื่นๆ จะเตรียมความพร้อมเรื่องนี้อย่างไร ต้องศึกษาให้ดี และ 4. ความพร้อมของพื้นที่ในภาคประชาชน ในพื้นที่ต้องประกอบร่างกันให้ได้ ไม่แยก ราชการ เอกชน ประชาชน ทำเป็นทีม เป็น One Team ให้ได้ จึงจะมีโอกาสรอด 
 

“ประชา อัศวธีระ” ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ภาคใต้ สังกัด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (depa phuket) ย้ำชัดๆ อีกครั้งว่า ทีมสำคัญมาก ทุกอย่างทำแบบ one man show ไม่ได้ ต้องมีความตระหนัก และประสานงานกัน

ทิ้งท้ายกันที่จังหวัดเลย ซึ่งปีที่แล้ว อำเภอเชียงคาน ได้ติด อันดับ 1 ใน 100 เมืองท่องเที่ยวยั่งยืน Top 100 destination มาแล้ว “ธรรมนูญ ภาคธูป” ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดเลย บอกว่า เลยพยายามจัดทำสถานที่ทำงานในสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการท่องเที่ยวไปด้วย ทำงานไปด้วย โดยพยายามจะจัดสถานที่พัก ที่ทำงานแบบ CO-Working Space 
 

เป้าหมายของ อพท. คือ การพัฒนาจังหวัดเลยขึ้นไปอีกขั้น ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับเวิร์ลคลาส (World Class Destinations) โดยนำหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC และเกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT เป็นหลักในการพัฒนาให้พื้นที่และชุมชนเกิดความยั่งยืนพื้นที่นำร่องของเลย ก็คือ “เชียงคาน” ซึ่งมีความเข้มแข็งของชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และยังเต็มไปด้วยวิถีชีวิตที่เรียบง่าย คงเสน่ห์ทางวัฒนธรรมที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เช่น การใส่บาตรข้าวเหนียว การทำผาสาดลอยเคราะห์  หรือวิถีประมงแม่น้ำโขง 
  จาก ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ ถึง 7+7 เชื่อมนักท่องเที่ยว สู่กรีนเดสติเนชั่น

ที่สำคัญ จังหวัดเลยมีความเข้มแข็งด้านสาธารณสุข ที่ผ่านมา สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ได้เป็นอย่างดี และมั่นใจว่าจะทำได้ต่อเนื่อง ส่วนเรื่องของเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มความเข้มแข็ง และทำให้เลยเดินหน้าไปได้อีกขั้น ทั้งหมดกำลังมีการต่อยอด และเชื่อมโยง เพื่อให้เลย หรือ เชียงคาน เป็นอีกหนึ่งพื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่ดีของไทยอย่างยั่งยืน

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,703 วันที่ 8 - 11 สิงหาคม พ.ศ. 2564