รู้จัก โรคแพนิค เช็คอาการเป็นอย่างไร ไม่อันตรายแต่ควรรักษา

14 ต.ค. 2564 | 05:19 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ธ.ค. 2564 | 19:27 น.

ฐานเศรษฐกิจ พามาทำความรู้จักกับ โรคแพนิค ว่าอาการเป็นอย่างไร มีปัจจัยเสี่ยงไหนที่กระตุ้น ที่สำคัญไม่ได้เป็นโรคที่ไม่อันตรายแต่ควรรักษา

จากกรณีที่ครั้งหนึ่ง หนุ่ม กรรชัย พิธีกรชื่อดังระดับประเทศเคยเป็น"โรคแพนิค" ไม่ออกจากบ้านเลยถึง 1 ปี และเกือบเป็นโรคซึมเศร้าเพราะเครียดจัดจากสถานการณ์โควิด

วันนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับ โรคแพนิค มาให้ได้ทราบถึงอาการ ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และวิธีรักษา มานำเสนอ

“โรคแพนิค” คืออะไร 

“โรคแพนิค” (Panic Disorder) หรือโรคตื่นตระหนก เป็นโรควิตกกังวลประเภทหนึ่งที่เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ (Automatic Nervous System) ทำงานผิดปกติ โดยระบบประสาทนี้เป็นระบบที่ควบคุมการทำงานของร่างกายหลายส่วน

จึงทำให้เกิดอาการหลายอย่างร่วมกัน เช่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก ท้องไส้ปั่นป่วน วิงเวียน ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นแบบฉับพลันแม้ไม่มีสาเหตุหรือมีเรื่องให้ต้องตกใจ ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกกลัว ตื่นตระหนกเป็นอย่างมาก ไม่กล้าออกไปไหน หมกมุ่นเรื่องสุขภาพ จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน

อาการเป็นอย่างไร

  • ใจสั่น แน่นหน้าอก
  • หัวใจเต้นแรง
  • หายใจหอบ หายใจถี่
  • เหงื่อออกมาก เหงื่อแตก
  • ตัวสั่น
  • ปั่นป่วนในท้อง
  • วิงเวียน คล้ายจะเป็นลม
  • หวาดกลัว รู้สึกกลัวไปหมดทุกอย่าง
  • มือสั่น เท้าสั่น
  • ตัวชา ควบคุมตัวเองไม่ได้

ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคแพนิค

1.อาจเกิดจากสมองส่วนควบคุมความกลัวที่เรียกว่า “อะมิกดาลา” (Amygdala) ทำงานผิดปกติ

2.กรรมพันธุ์ คนที่มีญาติหรือประวัติครอบครัวเป็นโรคแพนิค มีแนวโน้มเป็นได้มากกว่าคนทั่วไป

3.การใช้สารเสพติด

4.ความผิดปกติของฮอร์โมน อาจทำให้สารเตมีในสมองเสียสมดุลได้

5.มีประสบการณ์ เคยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต

6.พฤติกรรมต่างๆ ที่เป็นตัวกระตุ้น เช่น ทำงานกับคอมพิวเตอร์และมือถือนานๆ เผชิญความกดดัน อยู่ในสภาวะที่เร่งรีบ เครียดวิตกกังวล ไม่ออกกำลังกาย พักผ่อนน้อย

7.เครียดสะสม เกิดจากการใช้ชีวิตอย่างจริงจัง เคร่งเครียด อยู่ในสภาวะกดดันเป็นประจำ

ไม่อันตรายแต่ควรรักษา

1.โรคแพนิค สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาเพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ

2.การตรวจเลือดหาสาเหตุที่เกิดทางด้านร่างกาย เพื่อการรักษาที่ได้ผลดีนั้นจะต้องมีการรักษาทางจิตใจควบคู่ไปด้วย

3.ปรับแนวคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วย รวมถึงคนรอบข้าง คนใกล้ชิด ควรทำความเข้าใจกับโรคนี้และให้กำลังใจผู้ป่วย

4.การฝึกการหายใจเพื่อควบคุมสติ เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่สามารถช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวล ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยสามารถทำได้ด้วยตนเอง 

5.ควรอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ผ่อนคลายจากความเครียด รับประทาน พักผ่อนให้เพียงพอและเป็นเวลา

6.อาจหลีกเลี่ยงการใช้ชีวิตประจำวันด้วยความเร่งรีบ รวมทั้งการใช้เวลาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือมากเกินไป

7. หากสงสัยว่ามีอาการของโรคแพนิค ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด

ที่มา : โรงพยาบาลศิครินทร์