แม้แต่ “ซิซซ์เล่อร์” แบรนด์ร้านอาหารดัง ก็ยังตอบรับ ด้วยการจัด 2 เมนูแพลนต์เบสใหม่ ได้แก่ “ออมนิมีท ลาบทอด เสิร์ฟพร้อมข้าวเหนียว” เมนูลาบทอดจากโปรตีนพืชถูกนำมารังสรรค์ในสไตล์ไทยๆ พร้อมรสชาติเข้มข้นแบบฉบับอีสานแท้ ทานคู่ข้าวเหนียวร้อนๆ เหมาะสำหรับสายสุขภาพที่ต้องการความอิ่มท้องจากแหล่งโปรตีนธรรมชาติแต่ยังคงไว้ซึ่งความจัดจ้านและความแซ่บ
และ “สเต๊ก บียอร์น กัวคาโมเล่ และซัลซา” สเต๊กเนื้อที่ไร้เนื้อสัตว์เป็นส่วนผสม ถูกนำไปย่างร้อน ๆ เสิร์ฟพร้อมด้วยบีทรูทที่ผสมกับน้ำส้มจึงมอบรสชาติเปรี้ยวหวานลงตัว นอกจากนี้ยังราดด้วยกัวคาโมเล่ที่ทำจากอะโวคาโดบด และซัลซา รวมถึงเผือกทอดด้านบนสุดเพิ่มความกรุบกรอบ หากใครที่ชื่นชอบทานอาหารสไตล์เม็กซิกันต้องไม่พลาด ซึ่งทั้ง 2 เมนู เสิร์ฟให้ลูกค้าได้มาลิ้มลองได้ทั้งที่ร้านซิซซ์เล่อร์ 30 สาขา และเดลิเวอรี่
“กรีฑากร ศิริอัฐ” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด ใน เครือ เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บอกว่า ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งเร่งให้คนผู้บริโภคสนใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น และพร้อมเปลี่ยนพฤติกรรม ยิ่งมีทางเลือกที่ดีอย่างอาหาร “แพลนต์เบส” (Plant-Based Food) หรือนวัตกรรมอาหารที่ให้โปรตีนทำจากพืช การตอบรับจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยจะเห็นได้จาก การเติบโตของอาหารแพลนต์เบสทั่วโลกในปี 2563 ที่มีมีมูลค่าราว 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าปี 2568 จะมีมูลค่าราว 8.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ที่มา: Plant Based Meat Market Outlook 2025)
ในไทยก็ไม่น้อยหน้า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อาหารแพลนต์เบสขายดีต่อเนื่อง ปี 2562 ตลาดแพลนต์เบสมีมูลค่า 2.8 หมื่นล้านบาท และคาดว่าปี 2567 จะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นถึง 4.5 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% (อ้างอิง: Krungthai COMPASS)
จริงๆ ซิซซ์เล่อร์ เคยเปิดเมนูแพลนต์เบสมาแล้ว ตั้งแต่ปลายปี 2562 แต่มาคราวนี้จัดหนัก เพราะต้องการสร้างตลาด “แพลนต์เบส” แบบเต็มรูปแบบ พร้อมกำหนดเป็นเมนูประจำ ในราคาที่ไม่แตกต่างจากเมนูปกติ ซึ่งเขาคาดว่าจะสามารถเพิ่มยอดขายได้ถึง 30% ภายในปี 2565
การเติบโตของตลาด “แพลนต์เบส” ทำให้ผู้ประกอบการไทยหลายรายให้ความสนใจ อย่าง
“ภาณุวัตร กิ้มหิ้น” กรรมการบริษัท อินโนโฟ จำกัด ผู้พัฒนา MJ Mudjai plant based food ผู้คิดค้นแพลนต์เบสจากวัตถุดิบในท้องถิ่น ที่นำ “เห็ดแครง” มาแปลงร่างพัฒนาเป็นแพลนต์เบส แบรนด์ Mudjai : มัดใจ ในปัจจุบัน ซึ่งเป้าหมายของเขาคือการทำเห็ดแครงแพลนต์เบสตัวนี้ เสิร์ฟเป็นอาหารให้คนทั่วโลกได้รับประทาน
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์มี 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร Freeze dry เป็นการแปรรูปอาหารให้คงไว้ซึ่งรสชาติเหมือนรสชาติอาหารสด ซึ่งจะมี 2 เมนู ได้แก่ ลาบ แกงคั่ว ทั้งสองเมนูจะใช้เห็ดแครงเป็นวัตถุดิบหลัก และผสมผสานสมุนไพรท้องถิ่นเข้าไป ซึ่งนอกจากจะให้รสชาติดีแล้ว สมุนไพรยังส่งผลต่อร่างกายร่วมด้วย และกลุ่มอาหารแช่แข็ง (Frozen) จะเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แพลนต์เบสจากเห็ดแครงและขนุนอ่อน แบบไม่มีการปรุงแต่งรสชาติ ไม่ใส่สี และไม่แต่งกลิ่น เน้นการให้รสชาติที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด เพื่อให้ผู้บริโภคนำไปปรุงอาหารได้ตามใจชอบ
ในวันนี้ประเทศไทย ยังมีอีกหนึ่งสตาร์ทอัพแนวหน้าอย่าง บมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ (NRF) ของผู้ก่อตั้ง และซีอีโอหนุ่ม “แดน ปฐมวาณิชย์” ที่บอกว่า แพลนท์เบสฟู้ด เป็นตลาดที่ใหญ่มากและเติบโตเร็วมาก แถมยังเป็นธุรกิจที่ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ค่อนข้างสูง โดยประเมินจากแฮมเบอร์เกอร์จากเนื้อวัวหนึ่งชิ้น มีส่วนในการปลอ่ยคารร์บอนราว 3.3 กิโลคาร์บอน ในขณะที่แฮมเบอร์เกอร์ที่ทำจากแพลนท์เบส จะปล่อยคาร์บอนเพียง ครึ่งกิโลคาร์บอนต่อชิ้น และปัจจุบันอาหารแพลนท์เบสฟู้ดในสหรัฐอเมริกากินส่วนแบ่งตลาดของเนื้อสัตว์แล้ว 3.6% และภายใน 10 ปีนี้ จะสามารถขยับขึ้นเป็น 10-15%
ฮิตไม่ฮิต ก็ต้องลองติดตาม เพราะ “โปรตีนจากพืช” ยังมีอีกหลายผู้ประกอบการที่เข้ามาทำตลาด โดยคาดกันว่า “แพลนต์เบส” จะเข้ามาดิสรัปต์ “เนื้อสัตว์จริง” ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และจากที่ได้ทดลองชิมลิ้มรสมาแล้ว บอกเลยว่า “เยี่ยม!”
หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,727 วันที่ 31 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564