อาหารแห่งอนาคต
Future Food of Thailand
โปรตีนจากพืช ( PbM )
เศรษฐกิจฐานใหม่ของไทย
สู่ฮับอาหารเจของโลก (1)
ประเทศไทยต้องมองหาเศรษฐกิจใหม่ๆ ในยามที่เศรษฐกิจดั้งเดิมถดถอยจากวิกฤติโควิด
อาหารแห่งอนาคต(Future Food) และพืชแห่งอนาคต(Future Crop) คือคำตอบและเป็นคำที่ผมย้ำในการบรรยายและการทำงานบ่อยมาก เพราะเป็นคีย์เวิร์ด(Key Word) สำคัญ และจะเป็นกุญแจไขประตูแห่งอนาคตสำหรับประเทศไทย
อาหารแห่งอนาคต (Future Food) ที่กำลังมาแรง คืออาหารที่ใช้โปรตีนจากพืชผลิตเพราะเป็นอาหารสุขภาพ
คนไทยรู้จักดีในชื่อ”อาหารเจ”
วันนี้มีอาหารโปรตีนจากพืชที่เป็นดาวรุ่งมากๆ คือเนื้อที่ผลิตจากพืช (PbM : Plant Based Meat)
ตลาดอาหารเจในยุคประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เติบโตอย่างก้าวกระโดดมีมูลต่าถึง 3 แสนล้านบาท ในปีที่ผ่านมา และถ้ารวมมูลค่าตลาดในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกจะมีมูลค่าเกือบ 5 แสนล้านบาท
ไม่ว่าค่ายอาลีบาบาของจีน หรือ สตาร์บัค เคเอฟซี เนสเล ของประเทศตะวันตก และ บริษัทญี่ปุ่นที่ไปทำมาหากินในแผ่นดินมังกร ต่างขยายการผลิตและบุกตลาดอาหารเจ ตั้งแต่ติ๋มซำ ซาลาเปา เฝ๋อ ก๊วยเตี๋ยว ซูชิแกงกะหรี่ จนถึงไส้กรอก ไก่ย่าง และ แฮมเบอร์เกอร์ ที่ผลิตจากโปรตีนพืช
พูดถึงจีนก็ต้องเอ่ยถึงอเมริกา 2 คู่จิ้นแห่งยุค
ยอดขายอาหารสำเร็จรูปที่ผลิตด้วยเนื้อจากพืชในสหรัฐขยายตัวต่อเนื่อง ระหว่างปี 2013-2018 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยถึงปีละ 15.4% เทียบกับเนื้อแปรรูป (Processed Meat) ที่เติบโตเพียงปีละ 1.2% สอดคล้องกับข้อมูลของ NPD Group ผู้ประกอบการในสหรัฐอเมริกาที่ขายเบอร์เกอร์ และ แซนวิชเนื้อ ที่ทำจากพืช ก็พบว่ายอดขายระหว่างเมษายน 2018 – มีนาคม 2019 เพิ่มขึ้นถึง 7.8% ซึ่งมากสุดเป็นประวัติการณ์
เช่นเดียวกับบริษัท Beyond Meat หนึ่งในโรงงานผลิตเนื้อจากพืชรายใหญ่สุดของโลกก็รายงานยอดขายไตรมาส 2 ของปี 2019 เติบโตถึง 287%
อาจกล่าวได้ว่าปี 2019 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของผลิตภัณฑ์เนื้อที่ทำจากพืช สะท้อนจากธุรกิจอาหารที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2019 เชนร้านเบอร์เกอร์ชื่อดังในสหรัฐอเมริกา เช่น Carl’s Jr.ประกาศขายเบอร์เกอร์ ที่ผลิตด้วยเนื้อที่ทำจากพืช
ตามด้วยในเดือนเมษายน 2019 Burger King ก็ประกาศขายเบอร์เกอร์ที่ทำจากพืชเช่นกัน โดยเริ่มแรก ทดลองเพียง 59 สาขา กระทั่งวันที่ 2 พฤษภาคม 2019 Burger King ประกาศแผนวางขายเบอร์เกอร์เนื้อที่ทำจากพืชในทุกสาขาภายในสิ้นปี 2019 ที่ผ่านมา
โปรตีนจากพืชและอาหารเจผลิตจากถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลันเตา มะเขือยาว เห็ด สาหร่าย พืชสมุนไพร พืชสวนครัว น้ำมันปาล์ม มันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าว เป็นต้น
เข้าทางประเทศไทยของเราครับ ในฐานะประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเซียรองจากจีนเท่านั้น
ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นฮับของการผลิตตั้งแต่ต้นนำ ถึงปลายน้ำ จะเป็นสินค้าเกษตรอาหารตัวใหม่ ในการสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศไทย
ตอนต่อไปจะเล่าถึง บริษัท PbM ของไทย และโอกาสที่จะเป็น “เจฮับ” ของประเทศเราครับ
ผู้เขียน:
อลงกรณ์ พลบุตร
-ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
-ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0
-ประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม(AIC)
-รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์