สเปรย์ลดฝุ่น PM2.5 “ไฟท์ฝุ่น” เภสัชศาสตร์ จุฬาฯ คว้าเหรียญทอง “IWIS 2021”

24 พ.ย. 2564 | 23:08 น.

“PhytFoon” (ไฟท์ฝุ่น) ผลิตภัณฑ์สเปรย์ลดฝุ่น PM2.5 ผลงานวิจัยของอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ โดยบริษัท เฮิร์บ การ์เดียน จำกัด บริษัทสตาร์ทอัพภายใต้การบ่มเพาะของ CU Pharmacy Enterprise คว้ารางวัลเหรียญทองการประกวดนวัตกรรมระดับนานาชาติ “IWIS 2021”

ฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 เป็นพาหะของโรคต่างๆ และนำพาสิ่งที่เป็นอันตรายอื่นๆ เข้าสู่ร่างกาย สิ่งที่ติดมากับฝุ่นอาจเป็นโลหะหนักจากรถยนต์ มลพิษจากการขนส่งต่างๆ ซึ่งฝุ่นไม่ได้ทำลายแค่ระบบทางเดินหายใจ แต่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากทางตา ผิวหนัง และสามารถเข้าไปจนถึงถุงลมและเลือดได้ เมื่อทราบว่าฝุ่นเป็นสาเหตุของอันตรายต่างๆ จึงควรแก้ปัญหาที่ต้นทางโดยปกป้องตนเองจากฝุ่น

 

สเปรย์ลดฝุ่น PM2.5 “PhytFoon” (ไฟท์ฝุ่น) ผลงานนวัตกรรมทางสุขภาพที่พัฒนาโดย ศ.ภญ.ร.ต.อ.หญิง ดร.สุชาดา สุขหร่อง รศ.ภญ.ร.ท.หญิง ดร.ภัสราภา โตวิวัฒน์ และ อ.ภก.ดร.วันชัย จงเจริญ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยที่สามารถแก้ปัญหาฝุ่นPM2.5 ได้เป็นอย่างดี

 โดยสารผสมในสเปรย์ที่คิดค้นขึ้นสามารถดักจับฝุ่น PM2.5 ที่แขวนลอยอยู่ในอากาศให้ตกลงสู่พื้นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งนวัตกรรมนี้ได้รับการต่อยอดจากภาคเอกชน โดยบริษัท เอส.ที.โพรเทค ใช้สิทธิในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สเปรย์ลดฝุ่น PM2.5 “PhytFoon” เพื่อคนไทยใช้งานมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา

 

นับเป็นผลิตภัณฑ์แรกในประเทศไทยที่มีผลการวิจัยจากจุฬาฯ ยืนยันว่ามีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่น PM2.5 และสามารถลดฝุ่นได้ด้วยเทคโนโลยีที่คิดค้นพัฒนาโดยนักวิจัยไทย

ศ.ภญ.ร.ต.อ.หญิง ดร.สุชาดา สุขหร่อง  ผู้พัฒนานวัตกรรม “PhytFoon” เปิดเผยว่า นวัตกรรมนี้เกิดจากปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของคนเมือง จึงจุดประกายความคิดให้พัฒนานวัตกรรมนี้ขึ้นซึ่งเกิดจากการทำงานวิจัยร่วมกันของอาจารย์ นักวิจัย และนิสิตจุฬาฯ ภายใต้บริษัท เฮิร์บ การ์เดียน จำกัด

 

และอาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ การส่งผลงานนวัตกรรมเข้าประกวดในเวทีนานาชาติครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีการเตรียมข้อมูล รายละเอียดคำขออนุสิทธิ ภาพประกอบ วีดิโอต่างๆ ที่เป็นข้อมูลสนับสนุนเกี่ยวกับนวัตกรรมทั้งหมด ใช้เวลาเตรียมการราวสองเดือน

 

“รางวัลสำหรับนักวิจัยคือการที่นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นมีผู้สนใจนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ยิ่งไปกว่านั้น การที่นวัตกรรมได้รับรางวัลเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ถือเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจมาก รางวัลนี้เป็นความใฝ่ฝันของนักวิจัยทุกคน เป็นเครื่องพิสูจน์ว่านวัตกรรมนี้ช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น”