นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือของมูลนิธิเอสซีจี มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช กลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาคีเครือข่ายสถาปนิก และธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี
โดยหน่วยงาน Cement and Construction Solution ที่มาร่วมกันปรับปรุงพื้นที่ในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีในการมารับบริการ โดยเราได้นำเทคโนโลยี Building Information Modeling (BIM) มาใช้ เพื่อลดของเสีย ลดเวลา ลดค่าใช้จ่าย
สำหรับการปรับปรุงห้องน้ำได้ขยายความร่วมมือไปยังพนักงานเอสซีจี ชมรมช้างปูน นักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุน รุ่นที่ 17 และ 29 ที่มาร่วมบริจาคสมทบทุน โดยมีคอตโต้เป็นผู้ออกแบบและปรับปรุงห้องน้ำ ให้มีความปลอดภัยและเหมาะสมกับผู้ใช้งานทุกกลุ่ม ซึ่งเราหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะสร้างความสุขใจให้ผู้ใช้บริการ เมื่อใจสบาย ความทุกข์ทางกายก็จะเบาบางลง พื้นที่เหล่านี้จึงเป็นพื้นที่อยู่ดีมีสุขอย่างแท้จริง
นอกจากพิธีส่งมอบพื้นที่พักคอยและห้องน้ำแล้ว ภายในงานนี้ ยังมีการเสวนาพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการเฉลิมราชย์ราชา จิตอาสาพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไทย และโครงการเติมรอยยิ้ม ซ่อมสุข(า) ซึ่งแต่ละท่านได้ถ่ายทอดความรู้สึก ความประทับใจ และการมีส่วนร่วมในโครงการนี้
“โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชมีเป้าหมายที่จะเป็นโรงพยาบาลต้นแบบแห่งความสุข สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อชุมชนรอบข้าง ผู้ป่วย บุคลากร เจ้าหน้าที่ ต้องมีความสุข การสร้างพื้นที่แห่งความสุขของโครงการนี้นับว่าเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับเป้าหมายของโรงพยาบาล ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการออกแบบ ช่วยกันคิดให้สอดค้องกับบริบทของพื้นที่ วัฒนธรรม ความเชื่อ วิถีชีวิต ร่วมกันทักทอให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่แห่งความสุขของทุกคน” นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ กรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การที่ได้คนที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่จริงๆ มาร่วมออกแบบ ทำให้สถาปนิกคิดนอกกรอบมากขึ้น ทุกคนมาช่วยเติมความคิดให้สถานิกออกแบบได้อย่างกลมกลืนและลงตัว ตรงกับความต้องการใช้งาน ทำให้เราได้เห็นรอยยิ้มของคนที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ทำให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่แห่งความสุขอย่างแท้จริง
จุดเด่นของพื้นที่พักคอย 21 แห่งนี้คือการออกแบบแบบมีส่วนร่วม โดยเริ่มต้นจากการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลด้านพื้นที่ ผังแม่บท การวิเคราะห์ทางกายภาพ ครอบคลุมไปถึงความต้องการของทั้งโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย ญาติ สถาปนิก นักออกแบบ ตลอดจนประชาชนที่ใช้งานพื้นที่จริง จนเกิดเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันเพื่อให้ฟังก์ชันการใช้งานตอบโจทย์ผู้ใช้งานจริงในแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน รวมถึงบริบท ตลอดจนอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น