“กลอยตา ณ ถลาง” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เล่าว่า โครงการดนตรีปันสุข เกิดจาการที่ ซีอีโอกลุ่มบริษัทบางจากฯ นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ได้ไปเห็นศิลปินเปิดหมวกร้องเพลงกลางกาดแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงกลางวัน เพื่อทดแทนรายได้ในช่วงที่ไม่มีงานร้องเพลงร้านอาหารหรือสถานบันเทิงตอนกลางคืน
จึงริเริ่มโครงการดนตรีปันสุขขึ้น ระหว่างวันที่ 15 มกราคมถึง 13 มีนาคม 2565 ทุกเย็นวันเสาร์-อาทิตย์ ด้วยการเปิดใช้พื้นที่ปั๊มบางจาก จ้างศิลปินเหล่านี้มาเปิดแสดง เพื่อสร้างรายได้
โดยได้รับความร่วมมือจากสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยฯ ที่ช่วยประสานงานจัดหาศิลปินร่วมโครงการทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด 4 ภาคทั่วประเทศ โดยโครงการนี้ถือเเป็นการต่อยอดจากโครงการ บางจาก ปันน้ำใจ สู้ภัยโควิด -19 ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563
สำหรับปั้มบางจากในจังหวัดต่างๆ ที่จัดโครงการดนตรีปันสุข ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต ชลบุรี (พัทยากลาง) และกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับความร่วมมือจากศิลปินที่มีชื่อเสียง ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินขวัญใจประชาชน มาร่วมสร้างสีสัน อาทิ รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส ฉันทนา กิติยพันธ์ ชมพู ฟรุ้ตตี้ เทวัญ ทรัพย์แสนยากร ชรัส เฟื่องอารมย์ ตุ๊ก-วิยะดา โกมารกุล ณ นคร อุ้ย-รวิวรรณ จินดา จิระศักดิ์ ปิ่นสุวรรณ มัม ลาโคนิค แหม่มและปุ้มแห่งวงสาว สาว สาว ฯลฯ
“แม่เม้า-สุดา ชื่นบาน” ศิลปินแห่งชาติ และอุปนายกฝ่ายบริหารสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่าถึงสถานการณ์ของคนดนตรีในวิกฤติโควิดว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา นักร้องนักดนตรีได้รับผลกระทบกันหมด เรื่องสำคัญเลยคือไม่มีงาน ขาดรายได้จุนเจือครอบครัว
บ้างก็ต้องขายเครื่องดนตรีไปในช่วงที่เดือดร้อน บ้างก็เอาตัวรอดด้วยการไปเปิดหมวกร้องเพลง ซึ่งมีรายได้ไม่มาก ความช่วยเหลือจากโครงการ ดนตรีปันสุข ของบางจาก ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้านรายได้ให้กับคนดนตรี
หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,770 วันที่ 31 มีนาคม - 2 เมษายน พ.ศ. 2565