“อาทิตย์ กริชพิพรรธ” ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า ผลการดำเนิน โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” (ตามรอยพ่อฯ) ตลอดระยะเวลา 9 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556-2564 ได้เห็นผลทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ทั้งในด้านการอนุรักษ์และอยู่ร่วมกับป่า
ผ่านการนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้ ทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเอง และยังสร้างแหล่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืน มีการสร้างศูนย์เรียนรู้ 11 แห่งใน 7 จังหวัด และยังสร้างศูนย์กลางการแบ่งปันความรู้แบบออนไลน์แก่ผู้สนใจ ด้วยเนื้อหาที่หลากหลาย มีผู้ติดตามกว่า 246,900 คน
“ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร” นายกสมาคมดินโลก ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า “ตามรอยพ่อฯ”ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่มาปฏิบัติ เพื่อหยุดท่วม หยุดแล้งในลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน จนสามารถสร้างรูปธรรมตัวอย่างความสำเร็จและการขยายผลครอบคลุม 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ
สำหรับสิ่งที่ได้ จากผลการดำเนินงาน 9 ปี แบ่งเป็น 3 ระยะๆ ละ 3 ปี ได้แก่ 1.การ “สร้างคน” มีผู้เข้าอบรมและดูงานในศูนย์ฯ ของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ พื้นที่เครือข่ายลุ่มน้ำป่าสัก 489,984 คน พื้นที่เครือข่ายลุ่มน้ำอื่นๆ 826,280 คน รวม 1,316,264 คน 2. การ “สร้างครู” สร้างวิทยากร และครูพาทำในเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ในลุ่มน้ำป่าสักรวม 124 คน นอกลุ่มน้ำป่าสัก 9 คน รวมทั้งสิ้น 133 คน และ 3. “สร้างศูนย์เรียนรู้” มีศูนย์เรียนรู้ที่เกิดจากโครงการ 11 แห่ง อยู่ในลุ่มน้ำป่าสัก 8 แห่ง และนอกลุ่มน้ำ ป่าสัก 3 แห่ง
โครงการ “ตามรอยพ่อฯ” ทำให้ทุกภาคส่วนลุกขึ้นมาขับเคลื่อนพร้อมกัน จนเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย มีการเปิดศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภายในหน่วยทหาร และยังมีโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” รวมทั้งโครงการอื่นๆ อีกมากมาย
หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,768 วันที่ 24 - 26 มีนาคม พ.ศ. 2565