นายกิตติ พัวบัณฑิตกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล ผู้แทนบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ผู้ให้บริการทางพิเศษและระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้า รับมอบโล่ในฐานะหน่วยงานที่สนับสนุนส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคคลออทิสติก จากสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม(ไทย) และมูลนิธิออทิสติกไทย ในงานรณรงค์วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก World Autism Awareness Day (WAAD) เพื่อให้สังคมตระหนักถึงการสนับสนุน ยอมรับ และส่งเสริมบุคคลออทิสติก
รวมทั้งมุ่งเน้นให้คนพิการมีอาชีพ มีรายได้ และมีความมั่นคงในการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน โดยมี นายธนสุนทร สว่างสาลี รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีและมอบโล่รางวัล ในวันที่ 2 เม.ย.65 ซึ่งตรงกับวันออทิสติกโลก ที่ตรงกับวันที่ 2 เม.ย.ของทุกปี
BEM ในฐานะผู้ให้บริการทางพิเศษและระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้า ได้เล็งเห็นและตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมให้บุคคลออทิสติกและผู้พิการ BEM จึงมีนโยบายให้การสนับสนุน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ในโครงการส่งเสริมการจ้างคนพิการเชิงสังคม โดยการจัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการ จากคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการเพื่อประโยชน์ในสังคม พร้อมส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ให้มีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน
นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เด็กออทิสติกมีความผิดปกติของพัฒนาการทางสมองที่ล่าช้า 3 ด้าน คือ ด้านสังคม ภาษา และ พฤติกรรม ผู้ปกครองสามารถสังเกตพบอาการออทิสติกได้ก่อนที่เด็กจะมีอายุ 3 ปี สัญญาณเตือน ได้แก่ “ไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว ไม่ชอบเปลี่ยนแปลง”
กล่าวคือ ด้านสังคม เด็กจะไม่ยอมสบตา ไม่ชอบมองหน้าคนอื่น ไม่สนใจมองตามเมื่อเราเรียกชื่อ ไม่สนใจผู้อื่น ด้านภาษา เช่น เริ่มพูดได้ช้ากว่าเด็กปกติ หรือพูดได้แต่ไม่เป็นภาษา ฟังไม่รู้เรื่อง ชอบพูดคำเดิมๆ ซ้ำๆ ทั้งวัน ไม่ชี้นิ้วสั่งหรือบอกเมื่อต้องการของที่อยากได้ และ ด้านพฤติกรรม เช่น ชอบอยู่ในโลกส่วนตัว มีพฤติกรรมซ้ำๆ ที่ไม่เหมาะสม ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ชอบมองวัตถุที่หมุนตลอดเวลา เช่น พัดลมหรือของเล่นที่หมุนๆ เป็นต้น
ออทิสติกเป็นโรคที่มีความหลากหลายทางอาการมาก เด็กบางคนดูก็รู้ว่าเป็น แต่บางคนดูไม่ค่อยชัด หลายครั้งก็ไม่สามารถวินิจฉัยได้แน่นอนในการพบครั้งแรก ต้องอาศัยการเฝ้าติดตามอาการและพฤติกรรมหลายๆ ครั้งเพื่อให้แน่ใจ และหาข้อมูลจากหลายที่ เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็กที่เด็กเข้าไปเรียน เส้นแบ่งระหว่างความเป็นโรคกับความผิดปกติเป็นเส้นบางๆ ต้องอาศัยการเรียนรู้จากประสบการณ์ ยิ่งเห็นมากจะยิ่งเข้าใจโรคมากขึ้น
โรคนี้สามารถรักษาได้ พามาตรวจเร็ว ผลการรักษาก็จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เนื่องจากสมองของเด็กในช่วงอายุน้อยกว่า 5 ขวบจะมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ถ้ารีบแก้ไข จะทำให้เด็กมีโอกาสพัฒนาได้อย่างดี หากตรวจพบตั้งแต่ช่วง 2 ขวบปีแรก จะทำให้ผลการรักษาดีมาก แม้ไม่หายขาดแต่เด็กจะมีพัฒนาการด้านต่างๆ ดีขึ้น ช่วยเหลือตนเองได้ เข้าโรงเรียนได้ตามวัย ตลอดจน การเปิดใจยอมรับของครอบครัว ที่ไม่มองเด็กออทิสติกว่าเป็นส่วนเกินของครอบครัว และสังคม พร้อมจะทุ่มเท และสู้ไปด้วยกัน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้เด็กออทิสติกมีโอกาสในการรักษา และสร้างพื้นที่ในสังคมเพิ่มขึ้น
การเข้าใจและให้โอกาสกับกลุ่มคนพิเศษเหล่านี้ ย่อมช่วยให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามศักยภาพอย่างมีความสุข เด็กออทิสติกหลายคนสามารถพัฒนาได้จากไม่พูดหรือพูดภาษาที่คนอื่นฟังไม่เข้าใจ จนสามารถสื่อสารได้ดี ปรับตัวเข้ากับสังคมได้ดี ไม่มีพฤติกรรมซ้ำๆ เด็กออทิสติกหลายคนสามารถเรียนจบปริญญาและประกอบอาชีพได้เหมือนคนปกติทั่วไป พ่อแม่ผู้ปกครอง แพทย์ ครู รวมทั้งพวกเราทุกคนในสังคม จึงมีส่วนช่วยอย่างมากในการที่จะช่วยชูพลังใจ เติมความสดใส เพิ่มความหวังให้กับพวกเขาได้ ทั้งนี้ สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอดจนรับการคัดกรองได้ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ