“สมัชชา พรหมศิริ” Chief of Staff ฝ่ายการตลาดดิจิทัลและสื่อสารองค์กร บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการออกหุ้นกู้มูลค่า 100 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” โดยร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สร้างราชบุรีโมเดล นำเด็กที่หลุดจากระบบกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ระยะเวลาโครงการ 3 ปี
ขณะนี้โครงการคืบหน้าไปแล้วกว่า 3 เดือน โดยเริ่มนำร่องที่ อำเภอสวนผึ้ง ซึ่งตั้งเป้าลดจำนวนนักเรียนหลุดนอกระบบการศึกษาในช่วงวัยระดับการศึกษาภาคบังคับ (ป.1 - ม.3) ใน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ให้เป็น “ศูนย์” ภายในเดือนกันยายน 2565 ก่อนที่จะขยายไปอีก 9 อำเภอในจังหวัดราชบุรี
“ดร. ไกรยส ภัทราวาท” ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า งบประมาณที่ได้จากการออกหุ้นกู้ 100 ล้านบาทของแสนสิริ ทาง กสศ. ได้จัดสรรเป็น 3 ส่วน คือ 1. ทุนการศึกษา ค่าครองชีพทางการศึกษา 2.การสร้างระบบ 3. การสร้างกลไกเชิงพื้นที่ ซึ่งงบส่วนใหญ่ จะไปอยู่ในส่วนค่าครองชีพทางการศึกษาเป็นหลัก เนื่องจากปัญหาใหญ่ที่พบคือ ปัญหาด้านเศรษฐกิจของครอบครัว
ส่วนการทำงานในช่วง 3 เดือนแรก เป็นช่วงของการทำงานเพื่อเรียนรู้บริบทและสถานการณ์ในพื้นที่จริง พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายภาคีการทำงานระยะยาว เป็นการเคลื่อนงานจากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ iSEE พบมีเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาใน อ.สวนผึ้ง 7,650 คน และไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษาถึง 3,592 คน
ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบ คือ ครอบครัว ผู้ปกครอง พ่อแม่หย่าร้าง เรื่องเศรษฐกิจ การทำมาหากิน ปัญหาด้านการอบรมดูแล รวมไปถึงเด็กที่ต้องเรียนออนไลน์ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด -19 ถือเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กที่เรียนไม่เก่ง มีโอกาสหลุดออกจากระบบการศึกษาด้วย
อย่างไรก็ตาม ทาง กสศ.มองว่า โมเดลความช่วยเหลือของแสนสิริ ในการออกหุ้นกู้ ถือเป็นการกระตุ้นและเป็นต้นแบบให้อีกหลายๆ องค์กร ที่ต้องการช่วยเหลือระบบการศึกษาของไทย นำไปประยุกต์ใช้ ซึ่งที่ผ่านมา มีหลายองค์กรขนาดใหญ่
โดยเฉพาะองค์กรในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสนใจติดต่อมาปรึกษาหาแนวทางในการสนับสนุนช่วยเหลือเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับเป้าหมายของแสนสิริ ที่ต้องการสร้างอิมแพ็คความช่วยเหลือด้านการศึกษาให้เกิดขึ้ยในสังคมไทยมากขึ้น
หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 42 ฉบับที่ 3,782 วันที่ 12 - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2565