ในปี 2022 Sustainable Living หรือ ความยั่งยืนในการอยู่อาศัย เป็นอีกหนึ่งเมกะเทรนด์ที่คนทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างโดดเด่น ตั้งแต่การเลือกวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม , การมีส่วนร่วมลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ,ประหยัดทรัพยากร และประหยัดพลังงาน
ขณะประเทศไทย หลังการประกาศเจตนารมย์ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) โดยกำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และตั้งเป้าบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)ได้ในปี ค.ศ. 2065 นั้น
จุดเปลี่ยนแสนสิริสู่องค์กร Net-Zero
สำหรับในภาคอสังหาฯไทย หนึ่งในผู้เล่นสำคัญ ที่ประกาศตัวชัดเจน สู่เป้าหมายการเป็น Net-Zero คือ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)ในแง่ผู้พัฒนาฯ โครงการที่อยู่อาศัยบมจ.แสนสิริ ที่เดินหน้าภารกิจ Green investment อย่างจริงจังมาแล้วหลายปีและ ปี 2565 ระบุจะเริ่มขับเคลื่อนแผนงานอย่างเป็นรูปธรรม 4 ด้าน ได้แก่ Process- Product – Partners และ Investment อย่างน่าสนใจ
‘ฐานเศรษฐกิจ’ ร่วมลงพื้นที่โมเดลนำร่อง Net-Zero ของแสนสิริ ที่โครงการ ‘เศรษฐสิริ พระราม 5 ‘ โครงการบ้านเดี่ยวระดับบน บนพื้นที่กว่า 61 ไร่ ทำเลติดถนนบางกรวย-ไทรน้อย จำนวน 186 ยูนิต ซึ่งอยู่ระหว่างทยอยรับโอนกรรมสิทธิ์และเข้าอยู่อาศัยของผู้ซื้อ ได้สัมภาษณ์ นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฎิบัติการ บมจ.แสนสิริ ระบุว่า โครงการนี้จะเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ สำหรับเป้าหมายใหญ่ สู่การเป็นอสังหาฯไทยรายแรกที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์t
นายอุทัย พลิกปูมหลัง ระบุ ที่ผ่านมา บมจ.แสนสิริ นำร่องภารกิจด้านสิ่งแวดล้อมมานานแล้วนับ 10 ปี จุดเปลี่ยนต่อเป้าหมายใหญ่ ฐานะ ‘ อสังหาฯรายแรก ที่มีแนวคิดปล่อยก๊าซเป็นศูนย์’ เกิดขึ้นหลังการเข้าร่วมลงทุน (ถือหุ้น) ในชาร์จ แมเนจเจอร์ จำกัด (SHARGE) ผู้ผลิตและให้บริการติดตั้งเครื่องชาร์จรถ EV รายสำคัญของไทย ที่ 5% หรือราว 15 ล้านบาท
หลังมองเป็นโอกาสจากเทรนด์ธุรกิจในไทยที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด ขณะเดียวกันจะช่วยผลักดันให้แสนสิริ เข้าสู่เป้าหมาย Net-Zero ได้เร็วขึ้น รวมถึง การว่าจ้างที่ปรึกษา และเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย เพื่อจะทำให้ทราบว่าแสนสิริ ปล่อยปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์เรือนกระจกมากน้อยแค่ไหน และการจับมือกับ ION (ไอออน) ผู้จัดหาโซลูชั่นพลังงานโซลาร์ครบวงจรอีกด้วย
3 ปี ติด Solar Roof บ้านเดี่ยว 6 พันหลัง
สำหรับแผนงานในปี 2565 บริษัทจะเดินหน้าติดตั้ง Solar Roof ในบ้านเดี่ยวแสนสิริทุกหลัง ทุกโครงการใหม่ ในทุกระดับราคา 100% รวม 1,825 หลัง แบ่งเป็น บ้านเดี่ยวระดับราคาต่ำกว่า 8 ล้านบาท เช่น สราญสิริ อณาสิริ คณาสิริ ฯลฯ จะติด Solar Roof ขนาด 1.38 kWp รวมจำนวน 1,300 หลัง และ บ้านเดี่ยวระดับราคา 8 ล้านบาทขึ้นไป เช่น เศรษฐสิริ บุราสิริ เดมี่ บูก้าน นาราสิริ ฯลฯ จะติด Solar Roof ขนาด 1.84 kWp รวมจำนวนทั้งสิ้น 525 หลัง
ส่วนในระยะ 3 ปี(2565-252567) วางเป้าหมาย ติดตั้งบ้านเดี่ยวรวม 6,000 หลัง แบ่งเป็น บ้านราคาต่ำกว่า 8 ล้านบาท จำนวน 4,200 หลัง และบ้านราคา 8 ล้านขึ้นไป จำนวน 1,800 หลัง ประเมินอายุการใช้งานของแผงSolar Roof 25 ปีต่อหลัง จะช่วยลูกบ้านประหยัดค่าไฟฟ้ารวมกันได้มาก
“ประเมินเม็ดเงินที่แต่ละหลังจะได้ประหยัด จากการจ่ายค่าไฟฟ้าลดลง รวมกัน 25 ปี อยู่ที่ 1.6 พันล้านบาท ขณะเดียวกัน ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ได้ถึง 8,000 ตัน หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 535,000 ต้น หรือปลูกป่า 2,673 ไร่ “
ทั้งนี้ แสนสิริยังมีเป้าหมายติดตั้ง Solar Roof ในส่วนกลางของทุกโครงการใหม่ที่เปิดตัวในปีนี้ รวมแนวราบ และคอนโดมิเนียม รวม 46 โครงการ หลังจากนำร่องไฟส่องสว่างในสวนจากพลังงานแสงอาทิตย์แล้วจำนวน 34 โครงการในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
“พื้นที่ส่วนกลางทั้ง ปั้มน้ำสระว่ายน้ำ , สำนักงานนิติบุคคล ,ระบบแอร์ในคลับเฮ้าส์ หรือ แม้แต่เครื่องระบายอากาศในห้องน้ำ มีการติดตั้งระบบเก็บไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในตอนกลางวัน ทำให้สามารถประหยัดได้ถึงปีละ 1-1.7 แสนบาทต่อปีต่อโครงการ ซึ่งจะทำให้ลูกบ้านลดการจ่ายค่าส่วนกลางน้อยลงด้วย “
เร่งติดตั้ง EV Charger ทุกหลัง
ขณะที่ความคึกคักในตลาดรถไฟฟ้า EV ของไทยที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทำให้ปีนี้แสนสิริ จะเดินหน้าติดตั้ง EV Charger ในโครงการบ้านเดี่ยวระดับบน (ราคา 8 ล้านบาทขึ้นไป ) ทุกหลังให้ได้ 100% และยังมีแผนติดเครื่องชาร์จในบ้านเดี่ยวมากถึง 1,860 หลัง ภายใน 3 ปีอีกด้วย เพื่อหวังช่วยให้ลูกบ้านทุกหลังประหยัดค่าน้ำมันรวมกว่า 150 ล้านบาทต่อปี อีกด้านจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้กว่า 20,000 ตัน เทียบเท่าการปลูกต้นไม้กว่า 1,300,000 ต้นต่อปีหรือปลูกป่า 6,500 ไร่ รวมทั้งมีเป้าหมายขยายการติดตั้ง EV Charging Station ให้ครอบคลุมโครงการคอนโดมิเนียมและโครงการแนวราบที่เปิดใหม่ทุกโครงการ ภายใน 3 ปี และในบ้านทุกหลังในทุก segment ให้ได้ในปี 2573
กระตุกรัฐสนับสนุนองค์กร Net-Zero
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาล ประกาศนโยบายชัดเจน สู่แนวทางปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ แต่ในแง่ของเอกชน ที่ขับเคลื่อนการลดคาร์บอนทุกมิติ พบว่ายังมีข้อจำกัดและอุปสรรคอีกมากที่รัฐควรต้องเร่งเข้ามาสนับสนุน เนื่องจากที่่ผ่านมาเป็นเพียงการทำงานด้วยกันของภาคเอกชนเท่านั้น จึงต้องการให้รัฐบาลเข้ามาสร้างแรงจูงใจให้บริษัทหรือองค์กรต่างๆ ที่อยู่ระหว่างศึกษาการทำ Net-Zero ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบสินเชื่อ หรือ การผ่อนปรนเรื่องภาษี ก็ตาม
อีกด้านถือเป็นการสร้างกลไกทางตลาด เนื่องจากขณะนี้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การติดตั้ง Solar Roof หรือ EV Charger ที่สนับสนุนแนวทางรักษ์โลก ยังคงมีต้นทุนที่สูง แต่หากมีความต้องการเป็นจำนวนมากๆ จากการใช้งานที่สูงขึ้น จะทำให้ราคาต่ำลง ฉะนั้นเป็นหน้าที่รัฐที่จะต้องสร้างแนวทางส่งเสริม ความต้องการทั้งในภาคองค์กรและบุคคล