เกาะติดโรคฝีดาษลิง วันนี้ (22 พ.ค.65) ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Anan Jongkaewwattana ให้ความรู้ในเรื่องการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง (Monkeypox virus) โดยระบุว่า
Monkeypox virus (MPXV) เป็นไวรัสขนาดใหญ่ ใหญ่กว่า SARS-CoV-2 ของโควิด-19 มากหลายเท่า ในขณะที่ SARS-CoV-2 ใช้โปรตีนหนามสไปค์เป็นโปรตีนเดี่ยวๆในการจับกับโปรตีนตัวรับเข้าสู่เซลล์ การพัฒนาวัคซีนแบบใช้โปรตีนสไปค์เป็นตัวกระตุ้นภูมิสร้างแอนติบอดีมายับยั้งกระบวนการดังกล่าวจึงตรงไปตรงมา
ดังนั้นวัคซีนโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็น mRNA, viral vector หรือ subunit vaccine ต่างมุ่งที่จะใช้สไปค์เป็นแอนติเจนหลักของวัคซีน และ แอนติบอดีต่อสไปค์ที่สร้างขึ้นเพียงพอต่อการป้องกันโรคโควิดได้ แต่ สำหรับ MPXV เราไม่ได้มีโปรตีนเดี่ยวๆอย่างสไปค์ของ SARS-CoV-2 เพื่อมาพัฒนาเป็นวัคซีน เนื่องจากไวรัสมีขนาดใหญ่ใช้โปรตีนหลายตัวมากในการเข้าสู่เซลล์และเพิ่มจำนวนในเซลล์ และ ยังมีโปรตีนอีกหลายชนิดที่ยังไม่มีองค์ความรู้ว่ามีหน้าที่อย่างไร
การจะพัฒนาวัคซีน MPXV ด้วยเทคโนโลยีเดียวกับวัคซีนโควิดจึงทำไม่ได้ และ เชื่อว่าแอนติบอดีจากโปรตีนเดี่ยวๆไม่เพียงพอต่อภูมิคุ้มกัน จำเป็นต้องใช้ภูมิที่เหมือนกับการติดเชื้อจากธรรมชาติ โดยเฉพาะ T cell ที่จำเพาะต่อโปรตีนจำนวนมากที่ไวรัสสร้างขึ้นหลังจากติดเชื้อ
วัคซีนสำหรับ MPXV คือ วัคซีนตัวเดียวกับที่ใช้ป้องกัน smallpox หรือ ไข้ทรพิษในคน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเก่าแก่ที่สุด หลักการเดียวกับที่ Edward Jenner บิดาของเทคโนโลยีวัคซีน ที่ใช้ไวรัส cowpox มาปลูกฝีให้เด็กเพื่อป้องกันฝีดาษ โดยวัคซีนของ MPXV ใช้ไวรัสที่ชื่อว่า Vaccinia ซึ่งเชื่อว่ามีความใกล้เคียงกับ cowpox ที่ Jenner ใช้ แต่แยกมาจากม้า ด้วยคุณสมบัติของ Vaccinia ที่ไม่ก่อให้เกิดโรครุนแรงในคนที่มีภูมิคุ้มกันปกติ จึงมีการพัฒนามาเป็นไวรัสเชื้อเป็นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อ smallpox เป็นเวลาต่อมา คือ การปลูกฝีที่ทำกันในสมัยก่อน แต่ปัญหายังพบได้ในกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ไวรัสสามารถก่อให้เกิดอาการติดเชื้อที่รุนแรงได้
ดังนั้นจึงมีความพยายามปรับ vaccinia ให้มีความอ่อนเชื้อลง ที่นิยมทำกันคือเลี้ยงในเซลล์สัตว์ชนิดอื่นๆเช่นเซลล์ไก่ (CEF) เป็นเวลานานๆ มากกว่า 500 ครั้ง ส่งผลให้ไวรัสปรับตัวเองมีชิ้นส่วน DNA หายไปจากจีโนมไวรัสถึงกว่า 30000 เบส ทำให้ไวรัสติดเข้าสู่เซลล์คนได้ สร้างโปรตีนต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อการกระตุ้นภูมิได้ แต่ประกอบร่างเป็นอนุภาคเพิ่มจำนวนต่อไม่ได้ พัฒนาโดยนักวิจัยในเยอรมัน
กลายเป็น vaccinia ที่เชื่อว่าปลอดภัยในคนมากขึ้น เรียกสายพันธุ์นี้ว่า Modified vaccinia Ankara (MVA) virus โดยให้เกียรติ the Turkish vaccine institute of Ankara ซึ่งเป็นคนแยกหัวเชื้อเพื่อส่งให้ทีมเยอรมันไปพัฒนาต่อ จนกลายเป็นวัคซีนสำหรับ smallpox ที่ใช้กัน และ อาจจะเป็นตัวหลักสำหรับ MPXV เช่นเดียวกัน
ปัจจุบันวัคซีนของบริษัท Bavarian Nordic เป็นเจ้าของวัคซีนดังกล่าว
https://www.sciencedirect.com/.../pii/S0065352716300380