7 ทิศทาง การขับเคลื่อนองค์กร ในโลกอนาคต

03 มิ.ย. 2565 | 07:29 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มิ.ย. 2565 | 14:38 น.

สลิงชอท สรุป 7 ทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจในโลกอนาคต คนกับเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญ แนะองค์กรเร่งพัฒนา Power Skill และ Leadership Skill คนในองค์กร

“อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา” ผู้ก่อตั้ง และกรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป เปิดเผยว่า สลิงชอท กรุ๊ป ได้สัมภาษณ์ CEO จำนวน 50 ราย ถึงทิศทางการทำงานและการดำเนินธุรกิจในโลกอนาคตว่าจะเดินไปในทิศทางใด หลังจากได้รับบทเรียนและผลกระทบต่างๆ จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นจนถึงทุกวันนี้


นี่คือบทสรุป 7 ทิศทางที่เหล่า CEO เชื่อว่าจะเกิดขึ้น

 

  1. เศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นหลังจากนี้ : ผู้บริหารมองว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น (เมื่อเทียบกับช่วงวิกฤต) เพราะวัคซีนเข้ามาช่วยควบคุมการระบาด มีการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวและทำการค้า โควิดกำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ธุรกิจจะขับเคลื่อนไปได้มากขึ้น การส่งออกจะดีขึ้น แต่ก็มีปัจจัยที่เข้ามากระทบไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ อัตราเงินเฟ้อ และต้นทุนที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากค่าน้ำมันและสงครามรัสเซีย–ยูเครน
  2.  การปฏิวัติและเปลี่ยนแปลงองค์กร : เมื่อโลกเปลี่ยน องค์กต้องปรับ โดยรวมๆ นี่คือ 4 เรื่องสำคัญ

 

         ก. การปรับโครงสร้างองค์กรและแนวทางในการทำงาน ทั้งในเรื่องของอำนาจสั่งการที่จะมีการกระจายตัว (Decentralize) มากขึ้น และความรู้ความสามารถของพนักงานที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนทั้งในแง่ของการ Up Skills, Re Skills และ New Skills

 
 ข. การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไป ผู้บริหารต้องหันมาสนใจผลลัพธ์ (Output & Results) มากกว่าการดูที่ความพยายามและเวลาในการทำงาน (Input & Time-based)

ค. การนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่รวดเร็วขึ้น

ง. การดูแลคนและปรับวัฒนธรรมองค์กร เพราะคนเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญ ดังนั้นองค์กรต้องสรรหา พัฒนา และรักษาคนที่ใช่ (Right People) รวมทั้งสร้างสรรค์และส่งเสริมวัฒนธรรมในการทำงานที่สอดคล้องกับทิศทางและเป้าประสงค์ (Purpose) ขององค์กร


 3. การทำงานแบบไฮบริดจะเป็นการทำงานรูปแบบใหม่ : แต่ใจจริงแล้วผู้บริหารยังอยากให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศมากกว่าทำงานจากบ้าน เพื่อให้เกิดการสื่อสารที่ชัดเจน เกิดความสัมพันธ์ที่ดี และมีความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน ดังนั้นความท้าทายจึงอยู่ที่ทำอย่างไรจึงจะสร้างสมดุลระหว่างการทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Work from Anywhere) กับการสร้างปฏิสัมพันธ์ต่อกันระหว่างพนักงานให้เกิดขึ้น


 4. การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้พนักงาน (Employee Experience) : จากนี้ไป พนักงานรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้ทำงานเพราะเงินเพียงอย่างเดียวแล้ว (แม้เงินจะยังคงเป็นสิ่งสำคัญ) พวกเขามองหาประสบการณ์ดีๆ ในการทำงาน อยากรู้สึกว่างานมีคุณค่า มีอิสระในการทำงาน และทีมความร่วมไม้ร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เพื่อให้เป้าหมายทั้งส่วนตัวและองค์กรบรรลุผลไปพร้อมๆ กัน


 5. กลยุทธ์เรื่องคนมีความสำคัญ เพราะธุรกิจยังต้องขับเคลื่อนด้วยคน (People) : จากผลสำรวจพบว่าผู้นำกว่า 60% มองว่าคนเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จ การสรรหา พัฒนาและรักษาคนเก่งคนดีไว้กับองค์กร เป็นความสำคัญลำดับต้นๆ ที่ต้องใส่ใจ


6. การนำข้อมูลเกี่ยวกับคนในองค์กรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการตัดสินใจ (People Analytic) : ผลการสำรวจพบว่า องค์กรที่จะประสบความสำเร็จในโลกอนาคต ต้องสามารถใช้ข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ภายในองค์กร โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบุคลากร มาใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน


7. การบริหารความหลากหลายให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Diversity and Inclusion) : ผลการสำรวจพบว่าผู้นำขององค์กรส่วนใหญ่ คิดว่าองค์กรของตนเอง สามารถบริหารจัดการความแตกต่างหลากหลายได้ดี แต่จากการสัมภาษณ์เชิงลึกกลับพบว่าส่วนใหญ่ทำได้แค่ระดับ 1-2 จากโมเดล 4 ระดับในการบริหารความหลากหลาย โดยพบว่าเรื่องที่ยังทำได้ไม่ค่อยดีคือ การบริหารความหลากหลายในการทำงานระหว่างเจนเนอร์เรชั่น การจัดการกับการล่วงละเมิด (Harrassment) ต่างๆ เช่น การใช้คำพูด หรือการใช้อำนาจในทางที่ไม่ถูกต้อง เป็นต้น


โดยสรุปแล้ว คนกับเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเติบโต องค์กรต้องส่งเสริมให้พนักงานทุกคนพัฒนาความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น (Power Skills) และพัฒนาภาวะผู้นำ (Leadership) ให้เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งต้องส่งเสริมให้มีการนำข้อมูลมาใช้ในการดำเนินธุรกิจและตัดสินใจอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,788 วันที่ 2 - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2565