รองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.สุทธาสินี ปุญญโชติ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสารที่จำลองและเลียนแบบโครงสร้างเคมีของสารสกัดจากเปลือกมังคุด ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการรั่วซึมของลำไส้ ซึ่งจะส่งผลให้สุขภาพดี และลดการใช้ยาทั้งในคนและสัตว์ได้ท้ายที่สุด
จากการวิจัยเปลือกมังคุดที่ไม่ใช้แล้ว รศ.สพ.ญ.ดร.สุทธาสินี พบสารสำคัญ “แซนโทน” (Xanthones) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอล มีคุณสมบัติในการต่อต้านหรือยับยั้งการอักเสบต่างๆ ในระดับที่ดีหลายประการ อาทิ ต้านเซลล์มะเร็ง (anti-cancer) ต้านเชื้อแบคทีเรีย (anti-bacterial) ต้านอาการภูมิแพ้ (anti-allergy) ต้านการอักเสบ (anti-inflammatory) ต้านการเจริญของจุลินทรีย์ (anti-microbial) ต้านเชื้อมาลาเรีย (anti-malarial) และต้านการออกซิเดชัน(anti-oxidant) เป็นต้น
สรรพคุณต้านการอักเสบและทำลายเชื้อโรคของสารแซนโทน รศ.สพ.ญ.ดร.สุทธาสินี ริเริ่มโครงการวิจัยร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อพัฒนาสังเคราะห์สารแซนโทนให้อยู่ในรูปของ “ไฮดรอกซี่แซนโทน” (Hydroxy Xanthones; HDX) เพื่อมีฤทธิ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการดูแลสุขภาพของสัตว์และคน
การสกัดสารจากเปลือกมังคุดจะทำให้ได้สารที่หลากหลายทั้งที่มีคุณและเป็นโทษ นอกจากนี้ยังต้องผ่าน่ขั้นตอนหลายกระบวนการ รวมถึงไม่สามารถควบคุมคุณภาพของสารที่ได้จากเปลือกมังคุดด้วย เนื่องจากคุณภาพของสารในเปลือกมังคุดขึ้นอยู่กับกรรมวิธีการปลูก ปุ๋ยสภาพอากาศ และการดูแลต่างๆ” รศ.สพ.ญ.ดร.สุทธาสินี เผยโจทย์อันเป็นที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้
“เราจึงเลือกวิธีการวิเคราะห์และเลียนแบบโครงสร้างทางเคมีของสารแซนโทน จากเปลือกมังคุดขึ้นมา ซึ่งจะทำให้เราได้สารสำคัญที่ต้องการเน้นๆ ง่ายต่อการนำไปใช้ได้โดยตรงเพื่อพัฒนาเป็นสารเสริมในยา อาหาร และผลิตภัณฑ์ต่างๆ และควบคุมประสิทธิภาพให้สมบูรณ์ที่สุดได้”
เยื่อบุลำไส้รั่วซึมเกิดขึ้นได้ในคนและสัตว์ ซึ่งนำไปสู่การก่อโรคหลายชนิดโดยเฉพาะ “โรคติดเชื้อในกระแสโลหิต (septicemia)” ที่ 'แอบแฝงในร่างกาย' เป็นภาวะที่ลำไส้มีการดูดซึมผิดปกติ เยื่อบุผนังลำไส้ (Microvilli) ทำงานผิดปกติ
“นึกภาพการทำงานของเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้ที่เรียงตัวชิดติดกันเป็นระเบียบเพื่อทำหน้าที่คัดกรองและควบคุมสารพิษ หรือเชื้อโรคที่จะเข้าสู่กระแสเลือด เปรียบเหมือนป้อมปราการของร่างกาย เมื่อเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้เกิดการอักเสบ เซลล์ไม่สามารถเรียงตัวชิดกัน ทำให้สารพิษหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้ นับเป็นโรคที่มีความอันตราย ต้องรีบรักษาก่อนสาย” รศ.สพ.ญ.ดร.สุทธาสินี อธิบาย
อาการของโรคลำไส้รั่ว มักจะไม่แสดงอาการใดๆ หรืออาจมีอาการ ทางร่างกายส่วนอื่นๆ เช่นเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ปวดหัวหรือปวดเมื่อยต่างๆ ของร่างกายที่ไม่ทราบสาเหตุ
“สาเหตุของโรคยังไม่แน่ชัด แต่มีสมมติฐานว่าอาจเกิดจากความเครียด ซึ่งอาการเหล่านี้ถ้าเกิดกับคน ก็สามารถพบแพทย์ได้ทันที แต่หากเกิดกับสัตว์เป็นเรื่องที่ดูได้ยากมากว่าสัตว์กำลังป่วยอยู่หรือเปล่า”
ปัจจุบัน งานวิจัยกำลังอยู่ในขั้นการทดลองเพื่อหาคุณภาพการทำงานของสาร HDX โดยเริ่มใช้กับฟาร์มสุกรก่อนที่จะขยายการทดลองใช้กับสัตว์ที่มีขนาดใหญ่และหลากหลายขึ้น ในอนาคตจะมีการทดลองใช้เป็นสารเสริมในผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นยาหรืออาหารเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของมนุษย์และสัตว์