นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงโครงการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ บริเวณคลอง 6 อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี โดยรับที่ดินจำนวน 300 ไร่ จากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มาทดแทนพื้นที่เดิม โดยองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ดำเนินการก่อสร้าง “สวนสัตว์แห่งใหม่” ในช่วงปี 2566–2570 ว่าสวนสัตว์แห่งใหม่ที่จะเปิดให้บริการปี 2571ได้นำศาสตร์ของพระราชามาเป็นแนวทางในการพัฒนาเพื่อให้เป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้แห่งใหม่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยไฮไลท์ภายในสวนสัตว์แบ่งออกเป็น 5 โซน ประกอบด้วย โซนสัตว์แอฟริกาใต้ โซนสัตว์เอเชีย โซนสัตว์ออสเตรเลีย โซนสัตว์อเมริกาใต้ โซนสัตว์อเมซอน
ทั้ง5โซน จะมีสัตว์จากทวีปต่างๆ นำเข้ามาจัดแสดง ไม่ว่าจะเป็น ช้างไทย ละมั่ง ยีราฟ ไนอาล่า สิงโต ไฮยีน่าลายจุด เก้ง ละมั่งพม่า เก้งเผือก เนื้อทราย ฟลามิงโก้ ม้าลาย แรดนกกระจอกเทศ นกกระเรียน เสือลายเมฆ เสือดาว เสือโคร่งไทย กลุ่มลิง ค่างและชะนี กลุ่มนกน้ำ กลุ่มไก่ฟ้า กลุ่มนกเงือก สล็อท จิงโจ้ เป็นต้น
“การก่อสร้างแบ่งออกเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกจะเริ่มก่อสร้าง ในปี 2566-2568 ซึ่งในเฟสแรกจะเป็นการก่อสร้างร้านอาหาร โรงพยาบาลสัตว์ขนาดเล็ก ลานกิจกรรม สวนสาธารณะ ทั้งนี้หากเฟสแรกแล้วเสร็จก็จะทยอยเปิดให้บริการ ส่วนเฟส2 จะเริ่มก่อสร้าง ในปี2568-2570 ในส่วนนี้จะเป็นการก่อสร้างโซนสัตว์ต่างๆ และการปรับภูมิทัศน์รอบๆ สวนสัตว์ โดยจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ ในปี 2571 สวนสัตว์แห่งใหม่จะเป็นศูนย์เรียนรู้แห่งใหม่ของภูมิภาคเอเชีย เพราะในรอบๆพื้นที่สวนสัตว์มีแหล่งเรียนรู้หลายแห่งซึ่งเป็นการพัฒนาร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนตามศาสตร์ของพระราชาที่อยากให้คนมาใช้เวลาในสวนสัตว์มากๆเพราะในสวนสัตว์ถือว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีมากมาย”
ทั้งนี้ จุดเด่นของสวนสัตว์แห่งใหม่ มีคอนเซ็ปต์ในการสร้างคือ ทำอย่างไรให้สวนสัตว์เป็นแหล่งเรียนรู้ ให้มีความโดดเด่น แตกต่างและก้าวทันสวนสัตว์อื่นๆมีความจำเป็นที่ต้องผสมผสาน 3 แนวความคิดเข้าไว้ด้วยกัน ประกอบด้วยชุบชีวิตทุ่งน้ำเป็นแนวคิดการชุบชีวิตทุ่งน้ำรังสิตเพื่อการอนุรักษ์และเชิดชูเอกลักษณ์ของธรรมชาติพื้นถิ่นที่มีความโดดเด่นเป็นสวนสัตว์ที่มีเอกลักษณ์การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติในหน้าแล้งและหน้าน้ำหลากส่งผลให้เกิดจุดขายที่มีความน่าสนใจของการรับชมสัตว์ที่แตกต่าง
สัตว์และธรรมชาติ เป็นแนวคิดการจัดแสดงสัตว์ร่วมกับธรรมชาติ(BIO-PARK)เพื่อสวัสดิภาพที่ดีของสัตว์ โดยจัดแสดงให้เห็นความหลากหลายของสัตว์ตามธรรมชาติในแต่ละถิ่นที่อยู่อาศัย(BIODIVERSITY)และการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคนและสัตว์ผ่านประสบการณ์รับชมรูปแบบใหม่และศาสตร์พระราชา ที่องค์การสวนสัตว์นำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสวนสัตว์แห่งใหม่ เพื่อสร้างพื้นที่ต้นแบบทางวัฒนธรรมและทางนิเวศของการอยู่อาศัยร่วมกันอย่างเข้าใจธรรมชาติการจัดการทรัพยากรภายในโครงการอย่างยั่งยืน
“การเรียนรู้ไม่มีสิ้นสุด องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยจะนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ให้เกิดความทันสมัยและให้ประชาชนได้เข้าถึงความรู้เกี่ยวกับวิถีของสัตว์ต่างๆที่แสดงไว้บนสมาร์ทโฟน ให้สามารถคลิกเข้าไปอ่านรายละเอียดต่างๆได้ ผมอยากได้คนมาเที่ยวสวนสัตว์ และใช้เวลาในสวนสัตว์ให้มากขึ้น จากสถิติพบว่าคนไทย ใช้เวลาในสวนสัตว์ เฉลี่ย 2 ชั่วโมง ต่อครั้งเท่านั้น ในขณะที่สวนสัตว์ต่างประเทศ พบว่านักท่องเที่ยวใช้เวลาในสวนสัตว์ต่างประเทศ เฉลี่ย 6 ชั่วโมงต่อครั้ง ดังนั้นองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ต้องการให้สวนสัตว์แห่งใหม่เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้และได้รับความเพลินเพลินไปควบคู่กัน เพื่อให้ใช้เวลาในสวนสัตว์นานมากขึ้น”