วันครอบครัว 2566 (Family Day) หรือ "วันครอบครัวแห่งชาติ" เป็นวันที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัวที่แม้ว่าจะเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดแต่ก็มีความสำคัญอย่างมากซึ่งไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างก็มี "วันแห่งครอบครัว" เช่นเดียวกันแต่อาจมีการกำหนดช่วงวันและเดือนที่แตกต่างกันออกไป
สำหรับในประเทศไทย กำหนดให้วันครอบครัวตรงกับวันที่ 14 เมษายนของทุกปีซึ่งอยู่ในช่วงของวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ หรือวันปีใหม่ไทยนั่นเองซึ่งช่วงเวลานี้ คนไทยไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็มักจะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่และไหว้ขอพรบิดามารดา ใช้เวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างพร้อมหน้าพร้อมตากัน
การกำหนดให้วันสงกรานต์ตรงกับช่วงเทศกาลดังกล่าวนั้นก็เพื่อให้สมาชิกภายในครอบครัวได้มีโอกาสพบปะกันได้อย่างสะดวกนั่นเอง
ประวัติและความสำคัญของ "วันครอบครัว"
วันครอบครัวไทย กำหนดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2532 ในสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้เสนอมติให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในการกำหนดให้ทุกวันที่ 14 เมษายนของทุกปีเป็นวันครอบครัว หลังจากที่ ครม.อนุมัติเห็นชอบจึงประกาศใช้วันครอบครัวไทยเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.2533 จนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ วันครอบครัวแห่งชาติ เป็นวันที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัว ไม่ใช่เฉพาะต้องให้ความสำคัญกับพ่อแม่หรือสมาชิกภายในบ้านเท่านั้นแต่ดูแลเอาใจใส่กันได้ในทุก ๆ วัน โดยวันครอบครัวนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลวันสงกรานต์แล้วยังสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมและวัฒนธรรมของคนไทยได้เป็นอย่างดีอีกวันหนึ่งด้วย
กิจกรรมในวันครอบครัว
คนไทยส่วนใหญ่มักใช้โอกาสนี้ไปรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ ส่วนผู้ที่มีอายุน้อยกว่ามักจะเข้าไปไหว้ขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคง นอกจากนี้ครอบครัวไทยยังนิยมใช้เวลาร่วมกันด้วยการรับประทานอาหาร ถามไถ่ทุกข์สุขซึ่งกันและกันซึ่งถือเป็นวันสำคัญที่สมาชิกในครอบครัวทำกิจกรรมร่วมกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากัน