นักวิทยาศาสตร์ บอกกับ เภสัชกรว่า “ผมมารับยาเม็ด กรดอะซิติลซาลิไซลิก ที่คุณบอกไว้เมื่อวานว่าให้มารับวันนี้” เภสัชกรถามว่า “คุณหมายถึง แอสไพริน ใช่ป่ะ? ” นักวิทยาศาสตร์ ตบหน้าผากหลุดปากรำพึงว่า “เออ...นะ ทำไม ชื่อยา มันจำยากจริงๆ!” (ฮา)
อยากจะรู้ว่าใครเป็น “มืออาชีพ” เริ่มแรกเจอกัน แนะให้ดู “ฉากทัศน์ในการใช้สื่อ” เป็นจุดสำคัญ ว่าแต่ว่า “ฉากทัศน์ ” มันแปลว่าอะไรอ่ะ (ฮา)
ดร.อรสา โฆวินทะ Guru มสธ. นำเสนอไว้ชัดเจนว่า “ฉากทัศน์” คือ “ผลลัพธ์ของการศึกษาอนาคตชนิดหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึง เหตุการณ์ หรือ สถานการณ์ในอนาคต ณ จุดเวลาที่สนใจ ด้วยวิธีการต่างๆ CEO Blog กรุงเทพธุรกิจ คุณเรวัต ตันตยานน มโนแปลว่า “ภาพสถานการณ์ในอนาคตที่มีความเป็นไปได้” ท่านใดปวดขมับกับศัพท์คำนี้ เภสัชกร แนะว่า ทานยา กรดอะซิติลซาลิไซลิก จะดีไหม (ฮา)
Scenario(ซิแนริโอ) แปลว่า “สถานการณ์” คือ “เรื่องที่เกิดขึ้น” และ “บทละคร” กับ “บทภาพยนตร์” คือ “การแสดงในทำนองเลียนแบบ” หมายถึง คงจะจริง หรือ ลิงหลอกเจ้า ล้วนเป็นไปได้
ส่องใกล้ๆ เข้าไปอีกนิด เรามาแยกคำ “ฉากทัศน์” แบ่งเป็น “ฉาก” กับ “ทัศน์” ดูสิว่าจะออกหัวหรือก้อย “ฉาก” คือ “การเลือกมุมมองของภาพที่นำมาประกอบการแสดง” และ “ทัศน์” คือ “สิ่งที่ได้พบได้เห็น”
รวมความกันแล้วผมขอแปลแบบคัดย่อว่า “ฉากทัศน์” หมายถึง “มุมมองเสมือนจริง” เพราะว่า “มุมมอง” มีความหมายรองรับชัดเจนอยู่แล้วว่า หมายถึง “ความคิดเห็นของแต่ละบุคคลที่มีต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง”
ลูกอูฐ ถาม แม่อูฐ ว่า “ทำไมอูฐถึงมีโหนกอ่ะแม่” แม่อูฐ บอก ลูกอูฐ ว่า “อูฐเป็นนักพิชิตทะเลทราย จึงมี โหนก เอาไว้ใช้กักเก็บน้ำ ไงจ๊ะ” ลูกอูฐ ถาม แม่อูฐ ต่อว่า “ทำไมขาอูฐถึงได้ ย้าว ยาว ปานนั้น” แม่อูฐ ตอบ ลูกอูฐ ว่า “ขาอูฐพิเศษมีไว้สำหรับเดินทะลวงพื้นทรายเคลื่อนไหวคล่องตัวได้หน้าตาเฉยเลยนะ”
ลูกอูฐ ถาม แม่อูฐ อีกว่า “ทำไมขนตาอูฐ ยาว ยาว ซะไม่มี ” คาดว่า แม่อูฐ น่าจะเคยเข้าคอร์ส Mentor เป็น “พี่เลี้ยง” สามารถควบคุมอารมณ์ได้อยู่ จึงชี้แจงว่า “ขนตา ย้าว ยาว มีเอาไว้เป็นเกราะกำบังพายุทรายจะได้มองเห็นทางเดินสะดวกนะคะ”
ลูกอูฐ หยุดคิดแล้วก็รำพึงขึ้นว่า “เรามีน้ำเพียงพอ ไม่ต้องเดินลุยทราย ไม่เจอพายุทราย ไม่ต้องอาศัยโหนก เราไม่ต้องแคร์ ขายาวๆ ขนตายาวๆ ก็ได้ เราอยู่ในสวนสัตว์นะแม่!” (ฮา)
ลูกอูฐ เขามีแววเหมือนกันว่า ในภายชาติหน้า เขาน่าจะยกระดับขึ้นเป็น มืออาชีพ ได้ไม่ยาก เนื่องจาก มีนิสัยเป็น “อูฐขี้สงสัย” ผู้ใดมีนิสัยขี้สงสัยผู้นั้นมักจะ “สนใจการเรียนรู้คิดค้นฝึกฝนตลอดชีวิต” เป็นหนึ่งที่ในสิบทักษะของ Soft Skill อย่างไรก็ตาม แม่อูฐ อย่าประชดไปตัดโหนกตัดขาถอนขนตาทิ้งก็นะจ๊ะ อิๆ
“สามัญสำนึก” คือ “การตระหนักรู้แต่ละเรื่อง” เป็น “ปุ๋ย” ของ “ไหวพริบ” และ “ไหวพริบ” คือ “การคิดที่ฉับไว” เป็น “เครื่องมือ” ของ “อัจฉริยะ” ทั้งนี้ “อัจฉริยะ” คือ “นักฝันดีเด่นเกินปกติ” เป็น “แม่พิมพ์ขั้นเทพ” ของ “มืออาชีพ” และ “มืออาชีพ” คือ AT เป็น “ผู้มีวิธีปฏิบัติอันล้ำเลิศ!”
ผู้ใดไม่คุ้นกับอักษรย่อ AT จัดว่าผู้นั้นไม่ตกข่าว ผมเพิ่งลองบัญญัติจัดเอา AT คือ Adapt Talent ดัดแปลงพรสวรรค์ สวมกอด AI คือ Artificial Intelligence ปัญญาประดิษฐ์ ชวนมาผูกเสี่ยวให้ AT ณ Soft Skill กับ AI ณ Hard Skill เดินคู่ขนานไปด้วยกันไปได้อย่างสนิทสนมกลมดิ๊กต่อกันได้ เพราะว่า ไลฟ์สไตล์ “มืออาชีพ” นิยมความหลากหลายและยืดหยุ่นอยู่แล้ว
แฟนจากกันนานปีเจอกันอีกทียังจุ๊บกันได้ ฉันใดก็ฉันนั้น คิดเสียว่า เรื่องเล่าในย่อหน้านี้ คือ “กิ๊ก” ของเราเอง จะได้อ่านอย่างมีอรรถรส เนื้อหามันสุดสะอื้นยืนซาบซึ้ง “ช่างไม้ผู้มีอายุยืน” ขอปรึกษากับเจ้านายเพื่อจะขออำลาหน้าที่จะได้มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น เจ้านายเสียใจเพราะชายชราผู้นี้เป็นพนักงานที่ดีและไว้ใจได้
เจ้านายขอให้เขาทำงานพิเศษส่งท้าย คือ ช่วยสร้างบ้านอีกสักหนึ่งหลัง ใจเขาไม่มีให้ แต่ในฐานะที่เป็นผู้ใกล้ชิดก็ตอบรับแบบไม่เต็มใจ เลือกวัสดุราคาถูก ตกแต่งแบบปานกลาง เขาแช่แข็งจริตอุทิศตนไว้ศูนย์องศา หลังจากสร้างบ้านเสร็จ เจ้านายเข้ามาดูและส่งกุญแจให้เขาพร้อมบอกว่า
“บ้านหลังนี้เป็นของขวัญที่ผมขอมอบให้ เพื่อมีไว้เป็นเครื่องหมายแสดงความขอบคุณสำหรับการช่วยทุ่มเททำงานมานานปี”
"ช่างไม้ผู้มีอายุยืน” ประหลาดใจที่เจ้านายใจดีปานนั้น เขาเองรู้สึกเสียใจกับการรับงานนี้ด้วยอารมณ์ขุ่นมัว ถ้าเขารู้ว่าเจ้านายจะโอนสิทธิ์บ้านหลังนี้ให้เขา เขาจะพยายามอย่างเต็มที่ให้บ้านหลังนี้งดงามเปล่งปลั่ง ยี่ห้อ มืออาชีพ เสียฟอร์ม เพราะว่า ความฉลาดทางอารมณ์เครื่องรวน ทำให้ สปิริทอ่อนแรง จริยธรรมไม่มั่นคง เขาลืมไปว่า “มืออาชีพ” จะต้อง “รู้จักวางเฉยแต่ไม่เฉยเมยต่อสิ่งที่ได้พบเห็น” จึงขว้าง E.Q. ลงถังขยะ
ผู้พิพากษาระดับมืออาชีพ เผชิญวิกฤติขนาดย่อมในห้องพิจารณาคดี เนื่องจาก สุภาพสตรีทั้งสองท่าน พยายามที่จะแย่งคิวเพื่อขอใช้สิทธิเป็นผู้เริ่มต้นแถลงคำให้การเป็นคนแรก ผู้ท่านพิพากษาจึงตัดสินใจใช้อุบายการพูดที่แยบคาย เรื่องยากจึงกลายเป็นง่าย หลังจากท่านประกาศปกาศิตว่า
“ขอโทษนะครับ พักก่อนเถอะครับ ผมเป็นห่วงทั้งสองฝ่าย ผมว่าเราเอางี้ก็น่าจะดีนะครับ ท่านใดที่มีอายุแก่กว่า ผมจะให้สิทธิท่านนั้นเป็นผู้ให้การก่อน นะครับ” (ฮา)