15 กันยายน วันศิลป์ พีระศรี “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น" ผู้ให้กำเนิด ม.ศิลปากร

15 ก.ย. 2566 | 01:10 น.
อัพเดตล่าสุด :15 ก.ย. 2566 | 01:55 น.

วันศิลป์ พีระศรี ตรงกับวันที่ 15 กันยายนของทุกปี  เพื่อรำลึกถึงศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ครูผู้อุทิศตนทั้งชีวิต เพื่อนักเรียนและศิลปะ ตราบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต ท่านได้ชื่อว่า“บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยไทย” และเป็นผู้ให้กำเนิดมหาวิทยาลัยศิลปากร

 

ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นชาวอิตาลี (ซึ่งต่อมาท่านได้สัญชาติไทย) เดิมชื่อ คอร์ราโด เฟโรจี (Corrado Feroci) เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 ที่ตำบลซันตโยวันนี เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เป็นบุตรนายอาทูโด และนางซานตินา ด้วยความที่ท่านมีความสนใจในด้าน ศิลปะ มาตั้งแต่วัยเยาว์ เมื่อจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาในปี พ.ศ. 2451 แล้ว จึงได้เข้าศึกษาทางด้านศิลปะโดยตรง ณ โรงเรียนราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ จนจบหลักสูตรวิชาช่าง 7 ปี และได้รับประกาศนียบัตร ช่างปั้น ช่างเขียน ในปี พ.ศ. 2458

ในปี พ.ศ. 2466 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงมีพระราชประสงค์หาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้าน ศิลปะตะวันตก ให้เข้ามารับราชการ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้รับคัดเลือกเข้ามารับราชการในตำแหน่งช่างปั้น แห่งกรมศิลปากร กระทรวงวัง เมื่อกรมศิลปากรมีการยุบย้ายสังกัดจึงได้มีการเปลี่ยนสังกัดตามลำดับ เช่น ดำรงตำแหน่งช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา และตำแหน่งช่างปั้น สังกัดกองประณีตศิลปกรรม กรมศิลปากร กระทรวงธรรมการ ตามลำดับ

ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นชาวอิตาลี เดิมชื่อ คอร์ราโด เฟโรจี (ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์กรมศิลปากร)

ต่อมา อาจารย์ศิลป์ได้มาเป็นหัวหน้ากองโรงเรียนศิลปากร แผนกช่างกรมศิลปากร ในปี พ.ศ. 2476 ท่านได้เขียนหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ที่สนใจงานศิลปะ ต่อมาจอมพล แปลก พิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เห็นความสำคัญของงานศิลปะว่าเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ จึงมีคำสั่งให้พระยาอนุมานราชธน อธิบดีกรมศิลปากร ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตร และตราพระราชบัญญัติยกฐานะโรงเรียนศิลปากรขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อพุทธศักราช 2486 โดยมีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นอาจารย์สอนและดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร นับเป็นจุดเริ่มต้นการเรียนการสอนด้านศิลปะในระดับปริญญาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในปี พ.ศ. 2495 อาจารย์ศิลป์ได้เป็นอาจารย์ช่างปั้น กองประณีตศิลปกรรม กรมศิลปากร กระทรวงธรรมการ และต่อมาท่านได้เป็นข้าราชการกระทรวงวัฒนธรรมในสมัยนั้น คือในปี พ.ศ. 2501 ต่อมาจึงโอนมาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ท่านได้ตำแหน่งอันมีเกียรติยิ่ง คือประธานคณะกรรมการ สมาคมศิลปแห่งชาติ

อาจารย์ศิลป์ในบทบาท "ครู" กับลูกศิษย์ (ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์กรมศิลปากร)

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี หรือ “อาจารย์ศิลป์” ของลูกศิษ์ลูกหา เป็นครูที่มีความขยันขันแข็งและตั้งใจถ่ายทอดวิชาให้แก่ศิษย์อย่างจริงจัง ท่านเป็นผู้วางหลักสูตรจิตรกรรมและประติมากรรมให้มีมาตรฐานเช่นเดียวกับโรงเรียนศิลปะในยุโรป เป็นผู้ปั้นในการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์หลายแห่งในประเทศไทย ผลงานด้านศิลปะชิ้นสำคัญของท่านที่ยังคงสง่างามอยู่คู่บ้านคู่เมืองมาตราบจนทุกวันนี้ ดังสุภาษิตที่อาจารย์ศิลป์นำมาสอนลูกศิษย์อยู่เสมอว่า “Ars Longa Vita Brevis”ซึ่งแปลว่า “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น”

ทั้งนี้ ผลงานด้านศิลปะโดยเฉพาะงานประติมากรรมชิ้นสำคัญของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ฝากไว้เป็นพระบรมรูปของบุคคลสำคัญและอนุสาวรีย์สำคัญทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดนั้น ได้แก่

  • พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ณ ปฐมบรมราชานุสรณ์ เชิงสะพานพุทธยอดฟ้า
  • พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ สวนลุมพินี
  • พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี
  • พระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี
  • พระพุทธรูปพระประธาน (องค์ต้นแบบ)ที่พุทธมณฑล จ.นครปฐม
  • อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน
  • อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพฯ
  • อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จ.นครราชสีมา และอนุสาวรีย์อื่นๆอีกหลายแห่ง

ผลงานชิ้นเอกของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี (ขอบคุณภาพจากเพจ SU Style)

นอกจากผลงานด้านประติมากรรมแล้ว ท่านได้เขียนหนังสือและบทความทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย เพื่อเป็นประโยชน์แก่การศึกษาด้านศิลปะ เช่น Modern Art in Thailand, Thai Buddhist sculpture, Contemporary Art in Thailand, ศิลปสงเคราะห์ ทฤษฎีแห่งองค์ประกอบศิลป์ คุณค่าของจิตรกรรมฝาผนัง ภาพจิตรกรรมไทย อะไรคือศิลป์ รวมทั้งมีงานวิจัยร่วมกับลูกศิษย์ เช่น นายเฟื้อ หริพิทักษ์ และนายเขียน ยิ้มศิริ เรื่อง การวิจัยจิตรกรรมฝาผนังของสกุลช่างนนทบุรี เขียนบทความ เรื่อง Contemporary Arts in Thailand เป็นต้น

อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่กรรมด้วยอาการโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และภาวะหัวใจล้มเหลวหลังการผ่าตัด เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2505 รวมอายุได้ 69 ปี 7 เดือน 29 วัน 

กล่าวกันว่า ในช่วงบั้นปลายชีวิตแม้จะป่วยหนักแต่อาจารย์ศิลป์ก็ยังตรวจข้อสอบของนักศึกษาในขณะที่รักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช ท่านได้บอกกล่าวกับลูกศิษย์ไว้ว่า "นาย ถ้าฉันตาย นายนึกถึงฉัน นายรักฉัน นายไม่ต้องไปทำอะไร นายทำงาน" เป็นคำสอนที่ลูกศิษย์ยึดถือไว้อีกประโยคหนึ่ง เพื่อช่วยสืบต่ออุดมการณ์ของท่านในการพัฒนาวงการศิลปะไทยต่อไปตราบนานเท่านาน

ตลอดชั่วชีวิตการทำงานกว่า 39 ปีของท่านในประเทศไทย อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยให้ออกแบบปั้นและควบคุมการหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์และอนุสาวรีย์สำคัญของประเทศไทยจำนวนมาก รวมไปถึงการออกแบบพระพุทธรูปประธานที่พุทธมณฑลดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ผลงานของท่านยังคงปรากฏให้เห็นต่อสายตาชาวไทย เฉกเช่นเดียวกับคุณงามความดีของท่านที่ยังเป็นที่ระลึกถึงเสมอมา

ในวันที่ 15 กันยายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี มหาวิทยาลัยศิลปากรจึงจัดงานรำลึกถึงคุณงามความดีของท่าน...ครูผู้วางรากฐานการศึกษาของมหาวิทยาลัยศิลปากร และ “บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย”