นายอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา ผู้ก่อตั้ง และกรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป ได้หยิบยกเนื้อหาความฉลาดทางอารมณ์ หรือ Empathic Communicator ที่
Richard Boyatzis อธิบายไว้ในหนังสือขายดีของเขา ชื่อ Resonant Leadership ว่าผู้นำที่ทรงพลัง คือผู้นำที่พยายามเรียนรู้และฝึกฝนทักษะทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) จนสามารถนำมาใช้ในการจัดการตนเองและบริหารทีมงานได้อย่างยอดเยี่ยม
คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ ไม่ใช่คนที่ “ไม่แสดงออก” เมื่อ “มีอารมณ์” แต่หมายถึงคนที่สามารถ “แสดงอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม” ต่างหาก
ทักษะด้านความฉลาดทางอารมณ์มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการได้แก่
- Self-Awareness – การตระหนักรู้ในตนเอง หมายถึงการทำความเข้าใจในอารมณ์ ความรู้สึก จุดอ่อนจุดแข็ง และแรงผลักดันของตนเอง เช่น รู้ว่ากำลังไม่พอใจ รู้ว่าตนเองมีจุดแข็งอะไร เป็นต้น
- Self-Management – การจัดการอารมณ์ของตนเอง ซึ่งหมายรวมถึงการปรับตัวทางอารมณ์ โดยนำอารมณ์ที่มีอยู่มาใช้เปลี่ยนแปลงหรือผลักดันตนเองไปสู่เป้าหมาย เช่น เมื่อรู้สึกโมโหและผิดหวังจากงานที่ผิดพลาด แทนที่จะโวยวายตีโพยตีพาย โทษนั่นโทษนี่ ก็ปรับเป็น นำความรู้สึกนั้นมาเป็นพลังในการผลักดันและพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น นอกจากนั้นยังหมายถึงความสามารถในการแสดงอารมณ์ได้อย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ เช่นโกรธก็ไม่ใช่เก็บกดไว้จดหน้าดำคร่ำเครียดหรือโวยวายคล้ายคนบ้า แต่แสดงอารมณ์ออกมาอย่างเหมาะสมกับกาละและเทศะ
- Social Awareness – การรับรู้ทางสังคม หมายถึงการรับรู้และทำความเข้าใจว่าคนอื่นมีความรู้สึกอย่างไร เกิดอะไรขึ้น สิ่งใดส่งผลกระทบต่อจิตใจและอารมณ์ของพวกเขา ผ่านการเป็นคนเอาใจใส่ในรายละเอียดและรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Empathy)
- Relationship Management – การจัดการความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นความสามารถในการโน้มน้าวใจและพัฒนาผู้อื่น สร้างความผูกพัน จัดการกับความขัดแย้ง รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนและทำให้พวกเขาร่วมไม้ร่วมมือเพื่อเป้าหมายเดียวกันได้
ความสามารถทั้งสี่ข้อนี้เชื่อมโยงและพึ่งพากัน การจัดการความสัมพันธ์ ต้องอาศัยการรับรู้ทางสังคม และการจะเข้าใจสังคม ต้องเริ่มจากการตระหนักรู้ในตนเองก่อน เป็นวัฏจักรหมุนวนไป