thansettakij
‘มาร์ส เพ็ทแคร์’ ทุ่ม 350 ล้าน ตั้งศูนย์วิจัย-พัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยง

‘มาร์ส เพ็ทแคร์’ ทุ่ม 350 ล้าน ตั้งศูนย์วิจัย-พัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยง

12 มี.ค. 2566 | 01:33 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มี.ค. 2566 | 01:41 น.

ตลาดสัตว์เลี้ยงทั่วโลกคึกคัก คาดมูลค่าทะลุ 2 แสนล้านดอลลาร์ “มาร์ส เพ็ทแคร์” มั่นใจศักยภาพไทย ทุ่มงบ 350 ล้านสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยง “APAC Pet Center” รองรับตลาดภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ยูโรมอนิเตอร์คาดการณ์ว่า ในปี 2569 ตลาดสัตว์เลี้ยงของโลกจะมีมูลค่า 217,615 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตเฉลี่ยปีละ 7.2% โดยธุรกิจสินค้าและบริการเกี่ยวเนื่องกับสัตว์เลี้ยงมีมูลค่า 43,372 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมีมูลค่า 110,268 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 8.4% มาอยู่ที่ 66,748 ล้านบาทในปี 2569 เช่นกัน

อย่างไรก็ดีมีผลวิจัยที่น่าสนใจโดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ระบุว่า ปัจจุบันผู้คนหันมาเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นลูก (Pet Parent)สูงถึง 49% รองลงมาคือเลี้ยงสัตว์เพื่อสถานะทางสังคม (Pet Prestige) 34% และเลี้ยงสัตว์เพื่อช่วยเหลือและบำบัดรักษา (Pet Healing) 18%

‘มาร์ส เพ็ทแคร์’ ทุ่ม 350 ล้าน ตั้งศูนย์วิจัย-พัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยง

สัตว์ที่นิยมเลี้ยงมากที่สุดคือ สุนัข 40.4% แมว 37.1% และเอ็กโซติก 22.6% โดยมีค่าใช้จ่ายอาหารสัตว์ต่อเดือนอยู่ที่ 1,001-2,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดูแลเสมือนลูกทั้งสุนัขและแมวเฉลี่ยสูงถึง 14,200 บาท/ตัว/ปี ทำให้ตลาดสัตว์เลี้ยงยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในทุกหมวดหมู่

ดร.จารึก ศรีเกียรติเด่น ผู้อำนวยการด้านวิจัยและพัฒนา ประจำภูมิภาคเอเชีย บริษัท มาร์ส เพ็ทแคร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันคนไทยแต่งงานช้ามีลูกน้อยลง ขณะเดียวกันมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นทำให้หันมาเลี้ยงสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสุนัขและแมวเป็นลูกหรือเป็นเพื่อนคลายเหงามากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

และในช่วงโควิดที่ผ่านมาทำให้จำนวนผู้เลี้ยงรายใหญ่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเติบโตตามไปด้วย โดยไทยเป็นประเทศส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นอันดับ 3 รองจากเยอรมันและสหรัฐอเมริกาโดยกรมปศุสัตว์ประเมินมูลค่าการส่งออกราว 7 หมื่นล้านบาท

มาร์ส เพ็ทแคร์ มาร์ส เพ็ทแคร์

นอกเหนือจากผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายย่อยเข้ามาในตลาดค่อนข้างเยอะทำให้อาจจะมีการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างสูงในทวีปเอเชียบางประเทศที่เศรษฐกิจไม่ดี กำลังซื้อน้อย ผู้เลี้ยงอาจเปลี่ยนไปใช้แบรนด์ที่ถูกลง

สำหรับ มาร์ส เพ็ทแคร์ ประเทศไทย ปัจจุบันมีแบรนด์อาหารสัตว์ที่ทำตลาดในประเทศไทย คือแบรนด์ PEDIGREE, WHISKAS, IAMS, ROYAL CANIN, CESAR, SHEBA, TEMPTATIONS รวมทั้งทรายอนามัยสำหรับแมวแบรนด์ CATSAN โดยมีฐานการผลิตในประเทศไทย 2 แห่งคือ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

นอกจากรองรับการขายในประเทศแล้วยังส่งออกไปยัง 22 ประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะตลาดออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และยุโรปบางส่วน และโรงงานแห่งที่สอง ที่อมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี ในการรองรับการขยายฐานการผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

ล่าสุดบริษัทได้ลงทุนกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 350 ล้านบาทก่อตั้ง APAC Pet Center เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยงแห่งแรกของมาร์สในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยงในรูปแบบอัตโนมัติแห่งแรกของประเทศไทย พื้นที่รวม 3,630 ตร.ม. ตั้งอยู่ที่บริษัท มาร์ส เพ็ทแคร์ (ประเทศไทย) จำกัด อ. พานทอง จังหวัดชลบุรี และเริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2565 ที่ผ่านมาโดยคาดว่าจะใช้งบประมาณในการดำเนินการค่อนข้างสูงปีละ 7-8 แสนดอลลาร์สหรัฐ

มาร์ส เพ็ทแคร์ มาร์ส เพ็ทแคร์

“ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงแข่งขันค่อนข้างสูง บวกกับเทรนด์รูปแบบอาหารใหญ่ๆที่กำลังเติบโต เราจะต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เพื่อสร้างความมั่นใจว่านอกจากทำแบรนด์ที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไป อาจต้องมีผลิตภัณฑ์ในเซคชั่นที่ตอบโจทย์ของผู้บริโภคในกลุ่มที่ถัดลงมาจากเมนส์สตรีมด้วย การลงทุนในศูนย์นี้จะช่วยจะซัพพอร์ตการผลิตของบริษัทพัฒนาความสามารถการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และสามารถทดสอบและผลิตภัณฑ์ของเราภายในประเทศไทย

รวมทั้งออสเตรเลียนิวซีแลนด์ จีน อินเดียและเกาหลีใต้ โดยไม่ต้องเสียเวลาส่งไปทดสอบในประเทศอื่นที่อาจต้องใช้ระยะเวลาขนส่งและรอผล 2-3 เดือน รวมทั้งเป็นที่แลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาสัตวแพทย์และนักวิจัย สามารถรองรับสุนัขได้ถึง 43 ตัวและแมว 69 ตัวซึ่งทั้งหมดผ่านการคัดเลือกและได้รับการดูแลเป็นอย่างดีตามมาตราฐานสวัสดิภาพสัตว์

โดยศูนย์แห่งนี้ก็จะมีการสังเกตพฤติกรรมการกินของสุนัขและแมว ทดสอบความชื่นชอบต่ออาหารใหม่ๆที่เราผลิตออกมา และวัดปริมาณการกินที่เหมาะสมรวมทั้งทดสอบประสิทธิภาพของอาหารผ่านการย่อย นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องของสุขภาพใจของสัตว์เลี้ยงเรามีพี่เลี้ยงพาสุนัขและแมวออกมาออกกำลังกายและอบรมด้านพฤติกรรมเพื่อให้มั่นใจว่าสัตว์เลี้ยงมีความสุขและมีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ”

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,868 วันที่ 9 - 11 มีนาคม พ.ศ. 2566