นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ศึกษาสถานการณ์การค้าสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงในจีน พบว่า ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในจีนมีการเติบโตสูง เนื่องจากชาวจีนนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากขึ้น และยังมีค่าใช้จ่ายด้านสัตว์เลี้ยงต่อครัวเรือนค่อนข้างสูง โดยในปี 2564 จีนนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงสำหรับสุนัขหรือแมว (พิกัดสินค้า 2309.10) เป็นมูลค่ารวม 580.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ประเทศที่เป็นแหล่งนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงที่สำคัญของจีน ได้แก่ แคนาดา รองลงมา คือ สหรัฐฯ 19.7% และนิวซีแลนด์ 13% สำหรับไทย เป็นอันดับ 4 ที่ 11.1%
ทั้งนี้ ตลาดจีนจึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง ที่ผลักดันและส่งเสริมให้ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง อันดับที่ 1 ของโลก
“คนจีนมีรายได้สูงขึ้น ส่งผลต่อขนาดที่อยู่อาศัย ทำให้มีพื้นที่มากพอที่จะเลี้ยงสัตว์เลี้ยง ประกอบกับนโยบายการมีลูกคนเดียวในอดีต ส่งผลให้คนสูงวัยนิยมมีสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนคลายเหงาและยิ่งคนจีนรุ่นใหม่แต่งงานช้าลง และให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงในฐานะสมาชิกของครอบครัว และผลพวงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงในจีนเติบโต โดยผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมซื้อสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมาก”
โดยจากรายงานสถานการณ์การส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงจากสหรัฐฯ ไปจีน ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) แสดงให้เห็นว่า ปี 2565 แคนาดาซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงรายใหญ่ที่สุดของจีน ประสบปัญหาไข้หวัดนกระบาด ทำให้จีนห้ามนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีส่วนผสมของสัตว์ปีกจากแคนาดา ส่งผลให้บริษัทอาหารสัตว์เลี้ยงรายใหญ่ระดับโลก (อาทิ บริษัท Acana) ย้ายฐานการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีส่วนผสมของสัตว์ปีกจากแคนาดาไปประเทศอื่น ๆ รวมทั้งย้ายฐานการผลิตไปยังสหรัฐฯ
นอกจากนี้ เมื่อปี 2563 สหรัฐฯ และจีน ได้ลงนามข้อตกลงการค้าระหว่างกัน (U.S.-China Phase One Economic and Trade Agreement) โดยจีนผ่อนคลายข้อจำกัดการนำเข้า เช่น ยกเลิกการทดสอบส่วนผสม (Ingredient Testing) และอนุญาตให้นำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงจากสหรัฐฯ ที่มีส่วนผสมของสัตว์ที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศที่ 3 หากส่วนผสมได้นำเข้ามาในสหรัฐฯ อย่างถูกกฎหมาย ทำให้สหรัฐฯ ได้ประโยชน์จากข้อตกลงฯ
อย่างไรก็ตามจีนถือเป็นประเทศที่มีข้อกำหนดที่เข้มงวดเกี่ยวกับการนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยง ผู้ส่งออกทุกรายต้องได้รับการประเมินและขึ้นทะเบียนผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง โรงงานผลิตอาหารสัตว์ต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานศุลกากรของจีน (China’s General Administration of Customs: GACC) และผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทของจีน (Ministry of Agriculture and Rural Affairs: MARA) ทั้งนี้ ไทยมีโรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับ GACC จำนวน 33 โรงงาน เป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ ที่มีจำนวน 88 โรงงาน (ข้อมูลล่าสุด เดือนตุลาคม 2565) และไทยมีจำนวนผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรฯ ของจีน เป็นอันดับ 4 รองจากสหรัฐฯ แคนาดา และนิวซีแลนด์ โดยสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงสำหรับสุนัขหรือแมวจากที่นำเข้าจากต่างประเทศที่ขึ้นทะเบียนใหม่และต่ออายุกับกระทรวงเกษตรฯ ของจีน ในปี 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 435 รายการ (Stock Keeping Unit: SKU) และเป็นสินค้าไทย 52 รายการ คิดเป็นร้อยละ 12 (ข้อมูลล่าสุด เดือนธันวาคม 2565)
ส่วนแนวโน้มสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงในจีนมีการเติบโตอย่างมาก คาดว่าภายในปี 2566จะมีจำนวนครัวเรือนที่เลี้ยงสัตว์เกิน 100 ล้านครัวเรือน โดยสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงนำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้ากลุ่มพรีเมียม ปัจจุบันชาวจีนมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้มีกำลังซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น รวมกับการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุชาวจีนและค่านิยมการมีลูกคนเดียว ทำให้ชาวจีนนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายครัวเรือนที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ภายใต้สถานการณ์ล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19 อยู่ที่ 2,041 หยวนต่อปี (ประมาณ 10,000 บาทต่อปี) ทั้งนี้ อีคอมเมิร์ซเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในจีนเติบโตอย่างมาก โดย USDA ได้อ้างถึงรายงานตลาดอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงของจีน (China Pet Industry White Paper)
ทั้งนี้จีนเป็นตลาดสำหรับสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงที่ไทยสามารถผลักดันการส่งออกเพิ่มขึ้น เช่นทำการตลาดและจำหน่ายสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งเป็นที่นิยมของจีน เจาะกลุ่มตลาดพรีเมียมด้วยคุณภาพของสินค้า โดยการวิจัยและพัฒนา (R&D) ด้านคุณค่าโภชนาการของอาหารสัตว์เลี้ยง ศึกษารสนิยม/พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงศึกษาผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงของคู่แข่ง ทั้งจากผู้ผลิตจีน และผู้ส่งออกที่เป็นคู่แข่งในตลาดจีนอย่างแคนาดา สหรัฐฯ และนิวซีแลนด์ อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานและความปลอดภัยของวัตถุดิบและสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง เพื่อให้ผู้ซื้อมีความเชื่อมั่นในสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงที่ผลิตจากประเทศไทย
ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงสำหรับสุนัขหรือแมว อันดับที่ 3 ของโลก รองจากเยอรมนี และสหรัฐฯ ในปี 2565 ไทยส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นมูลค่า 2,460.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 18.6% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ตลาดส่งออกสำคัญคือ สหรัฐฯ รองลงมาเป็นญี่ปุ่น และ อิตาลี สำหรับจีน เป็นตลาดส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง อันดับที่ 10 มีมูลค่าการส่งออก 65.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 14.4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา