"หาดทรายดำ" โดยทั่วไป มักเกิดจากเศษชิ้นตะกอนหินภูเขาไฟขนาดเท่าเม็ดทรายจำนวนมหาศาลเมื่อเกิดการผุพังก็ยังคงมีสีดำของแร่หนักทำให้คลื่นชายฝั่งพัดพาเอาตะกอนที่เบากว่าออกไปโดยทิ้งไว้เฉพาะทรายดำที่มีน้ำหนักมากกว่า
หาดทรายดำเป็นลักษณะ เกิดขึ้นได้ทั่วไปบริเวณที่มีการระเบิดของภูเขาไฟหรือมีแหล่งหินภูเขาไฟใกล้บริเวณชายหาด พบในหลายประเทศทั่วโลกซึ่งมักจะพบสัมพันธ์กับแนวตะเข็บรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกที่มีการประทุของภูเขาไฟรวมถึงเกาะภูเขาไฟต่าง ๆ ในมหาสมุทร โดยหาดทรายดำที่มีชื่อเสียงเช่น หาดทรายดำ Vik Beach หรือที่รู้จักกันในชื่อ Reynisfjara ประเทศไอซ์แลนด์ ,หาดPolihale ฮาวาย ,หาดหาดเพริสซา ซานโตรีนี เป็นต้น
ประเทศไทยก็มี "หาดทรายดำ" เช่นกัน โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดทรายสีดำในประเทศไทย ไม่ได้เกิดจากภูเขาไฟระเบิดเหมือนหาดทรายดำของต่างประเทศ ในแต่ละที่จะมีลักษณะการเกิดหาดทรายดำที่แตกต่างกัน
"หาดทรายดำ" ในประเทศไทย
1. หาดนางทอง จังหวัดพังงา
หาดทรายดำ ที่พังงา จะตั้งอยู่บริเวณหาดนางทอง อ. ตะกั่วป่า โดยจะมีอยู่เพียงบริเวณเล็ก ๆ ทางด้านขวามือของประภาคารเขาหลัก คาดว่าเกิดจากการทำเหมืองแร่ ของคนตะกั่วป่าในอดีต
2. หาดทรายดำ แหลมงอบ จังหวัดตราด
หาดทรายดำ ที่ตราด จะตั้งอยู่ที่ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 1 ในอำเภอแหลมงอบ โดยหาดทรายดำที่นี่มีชื่อทางวิชาการว่าไลโมไนต์ (Limonite) คาดว่าเกิดจากการยุบสลายตัวของเศษเหมือง เปลือกหอย การผุกร่อนของเหล็กผสมด้วยควอตซ์ และลมที่พัดพาเอาทรายเหล่านี้มาผสมรวมกันจนเกิดเป็นทรายดำสนิทเนื้อละเอียด
ข้อมูลจาก กรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า บริเวณหาดนางทอง ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา หรือเรียกว่า “หาดทรายดำ” ที่ส่วนผสมของเม็ดทรายเป็นแร่หนัก (heavy mineral) หลายชนิดปะปนกันอยู่ อาทิ แร่อิลเมไนต์ ทัวร์มาลีน และดีบุก
ชาวบ้านมักเชื่อกันว่า "ทรายดำ" มีสรรพคุณช่วยรักษา บำบัดอาการปวดเมื่อยต่างๆ ได้ ด้วยการนำส่วนของร่างกายที่ปวดเมื่อย เช่น เท้า ขา ตัว ไปหมกอยู่ในทรายดำ
ที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย , กรมทรัพยากรธรณี