ใครเป็นสายรักษ์ธรรมชาติ ชอบความเขียวขจี หนึ่งในทริปยอดฮิตเมื่อเดินทางเที่ยว เชียงใหม่ ต้องขึ้น “ดอยอินทนนท์” เลยจ๊ะ ยิ่งเที่ยวหน้าฝนแบบนี้ อย่าพลาดไปปักหมุดเช็คอิน “อ่างกา” สัมผัสเสน่ห์ป่าเมฆบนยอดเขาสูง ให้ฟิลเหมือนทะลุมิติไปอยู่ท่ามกลางป่าดึกดำบรรพ์ในม่านหมอก งดงามสุดๆ
"ดอยอินทนนท์” ไม่เพียงขึ้นชื่อว่าเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ และเป็นป่าต้นน้ำที่สูงที่สุดในไทยอีกด้วย แหล่งต้นน้ำนี้ นำพาความชุ่มชื้น หล่อเลี้ยงทุกชีวิตและเหล่าสรรพสัตว์ มาช้านาน ซึ่งเราสามารถเดินทางไปสัมผัสอากาศหนาวเย็นกันได้ตลอดทั้งปี
เมื่อขึ้นดอยอินทนนท์ นอกจากแวะสักการะพระเจดีย์คู่ “พระมหาธาตุนภเมทนีดล” และ “พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ” หรือชมวิวบนยอดดอย เที่ยว “กิ่วแม่ปาน” แล้ว เราแนะนำเลยว่า อย่าพลาดไปเช็คอินกันที่ “อ่างกา” เส้นทางศึกษาธรรมชาติ
แหล่งท่องเที่ยวอีกจุดหนึ่งบนดอยอินทนนท์ ที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ แต่สุดปังมาก ฟิลลิ่งเหมือนหลุดไปอยู่อีกมิติ ท่ามกลางป่าดิบเขาดึกดำบรรพ์อายุกว่า 4,300 ปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย
วันที่เรามาอุณหภูมิอยู่ที่ 12 องศา อากาศเย็นๆ มีสายฝนพรำนิดๆ ยิ่งเติมเต็มความชุ่มชื้นและความเขียวขจีให้ผืนป่าแห่งนี้ มีเสน่ห์ไม่ต่างกับต้องมนต์เลยทีเดียว
ไฮไลต์ของอ่างกา คือ “การเดินศึกษาธรรมชาติ” ระยะทาง 320 เมตร ซึ่งจะมีความลาดชันเฉพาะตอนเริ่มต้นและช่วงใกล้สิ้นสุดเส้นทางระยะสั้นๆเท่านั้น
แต่ระยะทางเดินชมระบบนิเวศ “ป่าพรุภูเขาที่สูงที่สุดในไทย” แห่งนี้ เราเดินสบายๆบนทางเดินแนวราบบนสะพานไม้ เดินรอบเป็นวงกลม ใช้เวลาเดินประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง เพื่อดื่มด่ำมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ใน “ป่าเมฆ” ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางสายหมอก
ด้วยพิกัดของอ่างกา ซึ่งตั้งอยู่บนดอยอินทนนท์สูงราว 2,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นความสูงระดับเดียวกับก้อนเมฆ ทำให้อ่างกาเป็นป่าที่มีความชุ่มชื้นและอากาศที่หนาวเย็นตลอดปี ตลอดสองข้างทางที่เราเดินไปตามทางเดินไม้
โอโห! ผืนป่าแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ขั้นสุด เรารู้สึกตื่นตาตื่นใจไปกับระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ พืชและสัตว์ป่าหายาก โดยเฉพาะนกที่มีมากกว่า 490 ชนิด ที่เราคงไม่เห็นทั้งหมด แต่เท่าที่เห็นก็ทึ่งมากๆ
เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา ซึ่งเราเดินรอบเป็นวงกลม จะมีไฮไลต์อยู่ 11 จุด เริ่มจากทางเข้าตะลึงมากกับ “ป่าดึกดำบรรพ์” ประตูสู่หิมาลัย ป่าดิบเขาย้อนไปราว 4,300 ปีก่อน และยังเป็นแนวเขาสุดปลายด้านตะวันตกของเทือกเขาหิมาลัย
ยืนยันได้จากการพบเฟิร์นดิน ชนิดพันธุ์ Plagiogyria communis Ching ที่พบเฉพาะดอยอินทนนท์ และเป็นชนิดพันธุ์เดียวกับที่พบที่เทือกเขาหิมาลัย เหมือนอยู่ในป่าโบราณเลย ต้นไม้ใหญ่สูงเสียดฟ้า แผ่กิ้งก้านระโยงระยาง และปกคลุมไปด้วยมอสและเฟิร์น ดูแปลกตา
ถัดไปจะเป็น “ข้าวตอกฤาษี” หรือสแฟกนัมมอส พืชไร้ดอกจำพวกมอสสกุลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก พรมธรรมชาติที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำของผืนป่า หน้าที่เป็นฟองน้ำธรรมชาติคอยซับน้ำในอ่างกา
“กุหลาบพันปี” สายพันธุ์หายาก ดอกสีแดงก่ำ ที่จะพบเห็นในช่วงเดือนพ.ย.-ก.พ. หมุดหมายสำคัญของนกกินปลี ที่มักจะบินมาลิ้มรสน้ำหวานจากกุหลาบพันปีในทุกฤดูหนาว
ต่อด้วย “ป่าพรุภูเขา” บนยอดดอยสูงที่สุดของไทย ป่าพรุพื้นที่ชุ่มน้ำกว่า 30 ปกคลุมด้วยหญ้า ไม้พุ่ม และข้าวตอกฤาษี
“วิถีพืชอิงอาศัย” เอกลักษณ์ของป่าเมฆ พืชอิงอาศัยที่ปกคลุมหนาแน่นตามลำต้น กิ่งก้านของต้นไม้ใหญ่ ดูราวกับต้นไม้ใส่เสื้อ เป็นความงดงามอันเป็นเอกลักษณ์ของป่าเมฆ ที่เป็นการปรับตัวของพืชจากสภาพอากาศที่มีความชื้นสูงและอากาศหนาวเย็น
เลยไปหน่อยจะเป็น “นกชอบหนาว” ตัวชี้วัดระบบนิเวศอ่างกา ซึ่งดอยอินทนนท์เป็นบ้านหลังใหญ่ของนกมากกว่า 490 ชนิด จาก 1,071 ชนิดที่พบในไทย นกที่เราจะพบเห็นในบริเวณอ่างกา จะเป็นนกที่พบได้ในป่าดิบเขาระดับสูง
เช่น นกกระจิ๊ดคอเทา ที่สามารถพบได้ที่เดียวในไทย นกกินปีหางยาวเขียวสายพันธุ์อ่างกา นกเฉพาะถิ่นที่พบได้ที่เดียวในโลก รวมทั้งนกเดินดงอกเทา นกอพยพ นกพิราบป่าเขาสูง และหากมองดูที่พื้นล่างใต้ทางเดินไม้ ในพื้นที่ชื้นแฉะและรกไปด้วยไม้พุ่ม บริเวณนี้เป็นที่ชื่อชอบของนกกระทาดงคอสีแดงและนกจู๋เต้นจิ๋ว
จากนั้นจะเป็น “อาณาจักรสัตว์” กลางผืนป่าอ่างกา ที่อยู่สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก อย่างอึ่งกรายอินทนนท์ และกระท่างภูพิงค์ “ต้นกำเนิดน้ำต้นกำเนิดชีวิต” โดยเป็นต้นน้ำสำคัญของลำน้ำแม่กลาง ก่อนไหลลงแม่น้ำปิง
“สมดุลนิเวศ” บนพื้นป่า “ป่าซ่อมป่า” มหัศจรรย์ของธรรมชาติ และ “มรดกธรรมชาติ” สู่จิตสำนักร่วมดูแลรักษา
ไม่เพียงการเดินชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกาเท่านั้น ที่เก๋สุดคือ นักท่องเที่ยวยังสามารถสัมผัสเสน่ห์อ่างกาในมุมมองใหม่ ได้ผ่านแอปพลิเคชันอ่างกา Virtual 360 เมื่อสแกนผ่าน QR code หน้าทางเข้า แอปพลิเคชัน อ่างกา Virtual 360 องศา (คลิ๊ก)ห้องเรียนธรรมชาติออนไลน์ ที่จะพาเราเข้าไปเรียนรู้และสัมผัสธรรมชาติได้อย่างใกล้ชิด
“อ่างกา” จะสวยสุดในช่วงปลายฝนต้นหนาว เพราะเป็นช่วงที่มีทั้งหมอกฤดูฝน และหมอกของฤดูหนาวไหลเวียนเข้ามาปกคลุมผืนป่า แม้บางช่วงเวลาจะมีแสงแดดแรงกล้าส่องลงมา แต่อีกสักพักม่านเมฆก็จะไหลจากอีกยอดเขาเข้ามาห่มคลุมจนอ่างกา
จึงให้บรรยากาศเหมือนป่าเมฆ ป่าดึกดำบรรพ์ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางสายหมอกที่อเมซิ่งมากๆ ป่าในม่านหมอก สวยเกินคำบรรยายจริงๆ
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,925 วันที่ 24 - 27 กันยายน พ.ศ. 2566