ในยุคอดีตนั้น การกินเจ ไม่มีการกำหนดว่าจะกินกันเมื่อไร แต่ถือเอาความสะดวกของผู้กิน จะกินวันไหน เดือนไหนก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ผู้คนนิยมกินเจในช่วงไว้ทุกข์ เพื่อเป็นการปฏิบัติตนในทางที่ดีงามและเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย
ต่อมาเมื่อเกิดกบฏไท้เผ้ง ซึ่ง ชาวจีน ได้รวมตัวกันเพื่อต่อต้านและหวังกอบกู้แผ่นดินจากพวกแมนจู ผู้ก่อการกบฏถูกจับประหารชีวิต ยังความโศกเศร้าเสียใจให้กับชาวจีน จึงร่วมกันปฏิบัติธรรม โดยกินเจและถือศีล เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ถูกประหารชีวิต การกินเจจึงถูกกำหนดให้เป็นเทศกาลตั้งแต่นั้นมา
เมื่อถึง เทศกาลกินเจ ชาวจีนจะนุ่งขาวห่มขาว เพื่อแสดงถึงการตัดกิเลสจากโลกภายนอก ถือศีล กินเจ โดยปฏิบัติดังนี้
เมื่อการกินเจกำหนดเป็นเทศกาลขึ้น และมีกำหนดถึง 9 วัน ทำให้เทศกาลกินเจขยายใหญ่ขึ้นทุกที จนกลายเป็นงานที่ใหญ่และสำคัญอีกอย่างหนึ่งของชาวจีน งานการกุศลต่างๆ จึงมารวมกันในเทศกาลนี้ เช่น การทิ้งกระจาด การลอยกระทงสะเดาะเคราะห์ สิ่งเหล่านี้ถูกนำเข้ามาทีหลังเพื่อเสริมให้เทศกาลกินเจดูยิ่งใหญ่ขึ้น
ในช่วงเทศกาลกินเจ เราจะเห็นตามร้านอาหารทั่วไปปักธงสีเหลืองเต็มไปหมด นั่นหมายถึง การเข้าสู่เทศกาลกินเจของคนจีน ที่ปวารนาตนจะงดอาหารที่มีเนื้อสัตว์ พร้อมทั้งถือศีลทำบุญทำทานเป็นเวลา 9-10 วัน เพื่อเป็นการชำระทั้งร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์
ประเพณีการกินเจในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาของชาวจีนในประเทศไทย เชื่อว่าเป็นการประกอบพิธีกรรมเพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าในอดีตกาล 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระองค์ด้วยกัน (ชาวจีนในบางพื้นที่จึงเรียกเทศกาลกินเจว่า “เทศกาลเฉลิมฉลองของพระราชาธิราชทั้ง 9”) หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า ดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 ประชาชนถวายพระนามว่า "เก้าอ๊วง" ซึ่ง เทพทั้งเก้าของชาวพุทธมหายาน นั้น ได้แก่
ในพิธีกรรมสักการบูชาพระพุทธเจ้า 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์นี้ สาธุชนในพระพุทธศาสนาต่างสละเวลาและกิจทางโลกมาบำเพ็ญศีล ตั้งปณิธานกินเจ บริโภคแต่อาหารผลไม้ งดเว้นอาหารเนื้อสดของคาวด้วยการสมทานรักษาศีล และเพื่อซักฟอกมลทินออกจากร่างกาย วาจา ใจ ต่างสวมเสื้อผ้าสีขาวสะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากจุดด่างพร้อย พากันเดินทางสู่วัดอารามพร้อมด้วยดอกไม้ ธูปเทียน ไปนมัสการน้อมบูชาแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าทั้ง 7 พระองค์ อีกทั้งพระมหาโพธิสัตว์ 2 พระองค์ พร้อมจัดหาเครื่องกระดาษทำเป็นรูปทรงเสื้อผ้า, หมวก, รองเท้า, กระดาษเงินกระดาษทองต่างๆ ไปน้อมถวายเป็นเครื่องสักการะ เป็นกุศลสมาทาน
ดังนั้น เชื่อกันว่า ในช่วงนี้ถ้าใครถือศีลกินเจพร้อมตั้งจิตอธิษฐานขอพรอันใดก็จะได้สมปรารถนา นอกจากนี้ คนที่กินเจยังนิยมไปไหว้เจ้าตามศาลเจ้าเพื่อขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คุ้มครอง ซึ่งศาลเจ้าในกรุงเทพฯ ที่คนนิยมไปไหว้ อาทิ วัดเล่งเน่ยยี่ (วัดมังกรกมลาวาส), ศาลเจ้าไต้ฮงกง ตรงข้าม สน.พลับพลาไชย, โรงเจชิกเชี้ยม่า ตลาดน้อย และโรงเจเตี่ยชูหั้ง สำเพ็ง เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง