5 สถานที่ทำบุญโรงทานในกรุงเทพมหานคร 2566

13 ต.ค. 2566 | 14:29 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ต.ค. 2566 | 02:22 น.

การทำบุญโรงทานหรือโรงเจในเทศกาลกินเจ ถือเป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่และช่วยเสริมดวงให้แก่ชีวิต ชาวกรุงเทพฯสามารถไปทำบุญและรับประทานอาหารเจได้ตาม 5 สถานที่ ดังนี้

เทศกาลกินเจ มีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศจีน จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหล่าผู้กล้าทั้ง 9 ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการรุกรานของชนชาติแมนจู ที่หวังเข้ามาปกครองประเทศจีนตามตำนานเมื่อ 400 ปีมาแล้ว ด้วยการนุ่งขาว ห่มขาว ไม่รับประทานผักที่มีกลิ่นฉุน และไม่รับประทานเนื้อสัตว์ ชาวจีนจะพากันถือศีลกินเจเป็นเวลา 9 วัน ทุกวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปีตามปฏิทินจีน 

และเพื่อเป็นการสักการะพระพุทธเจ้าในอดีต 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ โดยจะเรียกเทศกาลนี้ว่า “เทศกาลเฉลิมฉลองของพระราชาธิราชทั้ง 9” ผู้คนจึงมีการงดเว้นการฆ่าสัตว์ ตัดชีวิต และหันมาบำเพ็ญศีล โดยตั้งปณิธานในการกินเจ งดเว้นอาหารคาวเพื่อเป็นการสมาทานศีล

สำหรับประเทศไทยก็ได้รับอิทธิพลมาจากบรรพบุรุษชาวจีน ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีการถือศีลกินเจด้วยเหมือนกัน ซึ่งถือเป็นความเชื่อและประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาในกลุ่มคนเชื้อสายจีน และกลายเป็นเทศกาลที่ผู้คนงดเว้นการกินเนื้อสัตว์และถือศีล เพื่อทำบุญ เสริมดวงให้ตัวเองจนถึงปัจจุบัน 

ทั้งนี้ นอกจากจะมีการจัดเทศกาลกินเจที่เต็มไปด้วยอาหารเจให้เลือกทานมากมาย และมีการจัดงานทำบุญ ขอพรตามศาลเจ้า หรือสถานที่ท่องเที่ยวในย่านต่างๆ แล้ว ยังมีการเปิดโรงทานให้ผู้คนได้ร่วมทำบุญ และร่วมรับประทานอาหารเจอีกด้วย ฐานเศรษฐกิจจะพาไปดู 5 สถานที่ทำบุญโรงทานในกรุงเทพมหานคร ที่สามารถเข้าร่วมได้ตลอดเทศกาล 9 วัน (15 - 23 ตุลาคม 66)

5 สถานที่ทำบุญโรงทานในกรุงเทพมหานคร

 

1.วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) - MRT วัดมังกร

ตั้งอยู่ย่านถนนเจริญกรุง ระหว่างซอยเจริญกรุง 19 และ 21 เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ที่คุ้นเคยกันดีในหมู่ชาวไทยเชื้อสายจีน ผู้คนมักเดินทางมาขอพรเพื่อสิริมงคล สะเดาะเคราะห์ปีชง ฟังเทศน์ ฟังธรรม และในเทศกาลกินเจจะมีการเปิดโรงทานให้ผู้ที่มาไหว้พระ ทำบุญ ถือศีลกินเจ ได้รับประทานอาหารเจที่วัด

2.ศาลเจ้าไต้ฮงกง (มูลนิธิป่อเตกตึ๊ง) - MRT วัดมังกร

ตั้งอยู่ตรงข้ามสำนักงานมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง หัวมุมถนนเจ้าคำรพ บรรจบถนนพลับพลาชัย เป็นศาลเจ้าใจกลางเยาวราช ที่ผู้คนแวะเวียนมาสักการะและกราบไหว้ “หลวงปู่ไต้ฮงกง” ด้วยความศรัทธาอยู่ตลอด เพราะท่านเป็นนักบุญแห่งผู้ยากไร้และศพไร้ญาติ ที่มีแนวทางการช่วยเหลือชาวบ้านผู้ยากไร้ของภิกษุชาวจีน โดยศาลเจ้านี้ถูกสร้างขึ้นมานานกว่า 100 ปีแล้ว อีกทั้งยังเป็นที่มาของ “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง” ในประเทศไทยอีกด้วย

 

3.โรงเจบุญสมาคม (บ่วงกิมฮกซั่วตั้ง) - MRT วัดมังกร

ตั้งอยู่ย่านสำเพ็ง เยาวราช เลขที่ 60 ตรอกไกร ถ.อนุวงศ์ ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ตามศิลปะของชาวจีนฮกเกี้ยนและแต้จิ๋ว เป็นโรงเจที่เก่าแก่และสมบูรณ์ที่สุดในย่านสำเพ็ง เยาวราช ชาวบ้านแถวนั้นมักเรียกว่า “โรงเจตรอกไกร” ตามชื่อของซอยที่ตั้ง เดิมถูกสร้างเป็นศาลเจ้าแบบลัทธิเต๋า แต่ต่อมาได้ถูกทำให้กลายเป็นโรงเจ    

4.ศาลเจ้าบ้วนชุนตั๊ว 

ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 433 ถนน เจริญนคร แขวงดาวคะนอง เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร (ใต้สะพานกรุงเทพฯ) เป็นศาลเจ้าเก่าแก่อายุมากกว่า 200 ปี ผู้คนมักพากันมากราบไหว้ ขอพร สะเดาะเคราะห์แก้ชง ให้เทพเจ้าปัดเป่าและคุ้มครองภัย โดยในช่วงเทศกาลถือศีลกินเจก็จะมีการเปิดให้ผู้คนเข้ามารับประทานอาหารเจภายในศาลเจ้าได้ด้วย

5. ศาลเจ้าโจวซือกง วัดซุนเฮงยี่ - MRT หัวลำโพง

ตั้งอยู่ในบริเวณตลาดน้อย แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เป็นศาลเจ้าเทพโจวซือกงของกลุ่มชาวจีนฮกเกี้ยน ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2347 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของสมาคมฮกเกี้ยนแห่งประเทศไทย และเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อายุ 200 ปี ย่านตลาดน้อย ที่เหมาะแก่การมากราบไหว้ ขอพร ในเรื่องโชคลาภ สุขภาพ ไม่เจ็บป่วย แข็งแรงตลอดทั้งปี โดยสามารถเที่ยวชมความสวยงามของศาลเจ้าได้

 


ใครที่ตั้งใจว่าจะเข้าร่วมเทศกาลถือศีลกินเจปี 2566 ตลอด 9-10 วันนี้ หลังจากตระเวนเดินเที่ยวและรับประทานอาหารเจตามสถานที่จัดเทศกาลแล้ว สามารถเดินทางไปกราบไหว้ ขอพร ทำบุญเสริมดวงกันที่ศาลเจ้าและโรงเจในย่านต่างๆ ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ไม่ได้มีเฉพาะในกรุงเทพฯเท่านั้น จังหวัดในเขตพุทธมณฑลใกล้เคียง หรือในต่างจังหวัดเองก็มีให้เลือกไปอยู่หลากหลายที่ ใครสะดวกที่ไหน หรืออยากไปที่ไหน วางแผนการเดินทางได้เลย