งานลอยกระทงลำพูน 2566 กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน บูรณาการความร่วมมือกับวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จังหวัดลำพูน สภาวัฒนธรรม หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งภาคีเครือข่ายในพื้นที่ จัดพิธีถวายโคมแสนดวง "เทศกาลโคมแสนดวงที่เมืองลำพูน" เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของงานเทศกาลประจำปีโคมแสนดวงที่เมืองลำพูน ที่กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 ตุลาคม - 27 พฤศจิกายน 2566 ณ บริเวณลานวัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร
เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแก่องค์พระธาตุหริภุญชัยในประเพณียี่เป็งของทุกปี ซึ่งปีนี้จัดยิ่งใหญ่มีการประดับโคมยี่เป็งกว่าแสนดวง และการประกวดโคมไฟ ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศได้มารับชมความงดงามเทศกาลประเพณีที่มีโคมล้านนาเป็นเอกลักษณ์ของชาวลำพูน
กิจกรรมภายในงาน ผู้ร่วมงานจะได้รับชมขบวนแห่โคมล้านนา และโคมนานาชาติ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน จัดพิธีทางศาสนา การแสดงพระธรรมเทศนา อานิสงส์การถวายประทีปโคมไฟ (แบบพื้นเมืองล้านนา) โดยพระเทพรัตนนายก เจ้าคณะจังหวัดลำพูน
จากนั้นมีพิธีถวายประทีปโคมไฟแด่องค์พระธาตุหริภุญชัย และกิจกรรมที่เป็นไฮไลท์มีการจุดประทีปดวงไฟถวายองค์พระธาตุหริภุญชัยที่มีความสวยงามทั่วทั้งพื้นที่วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร ด้วยแสง สี ตระการตา เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพและกระจายรายได้ให้แก่ชุมชนที่ทำโคม ทำสวยดอก (กรวยดอกไม้) ส่งให้แก่วัดเพื่อให้พุทธศาสนิกชนบูชา ตลอดจนเกิดการจ้างงานศิลปินพื้นบ้านทุกแขนงมาแสดงในงาน ถือเป็นรายได้ที่กระจายสู่ชุมชนตลอดการจัดงานประจำปีโคมแสนดวงที่เมืองลำพูนนี้ ถือเป็น 1 ใน 16 เทศกาลประเพณีที่กระทรวงวัฒนธรรม ยกระดับสู่ระดับชาติและนานาชาติ
ความเป็นมาโคมไฟถวายองค์พระธาตุเจ้าหริภุญชัย
มีมาตั้งแต่โบราณ ปัจจุบันเป็นการแขวนโคมพร้อมดวงไฟ หมายถึง การแสดงออกถึงการเคารพบูชา เพื่อให้เห็นในความสว่างของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นบารมีอันสูงส่งตามคติความเชื่อของชาวล้านนา นับเป็นการส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืน
ส่วนการถวายโคมแด่พระนางจามเทวี ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวลำพูนเพราะพระนางจามเทวีเป็นปฐมกษัตริย์แห่งเมืองหริภุญชัย เป็นผู้นำพระพุทธศาสนาเข้าในพื้นที่แห่งนี้และแผ่กระจายไปยังเมืองต่างๆ ทำให้พระพุทธศาสนาเกิดความรุ่งเรือง ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันการถวายประทีปโคมไฟได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยวัดพระธาตุหริภุญชัยขยายพื้นที่จัดการตกแต่งการแขวนโคม ใส่ดวงไฟเข้าไปในโคมให้สวยงาม รวมทั้งการให้ประชาชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมถวายประทีปโคมไฟ ทำให้เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในจังหวัดลำพูนและสร้างรายได้แก่ชุมชน