เทศกาลตังโจ่ย (เทศกาลไหว้ขนมบัวลอย) 22 ธันวา ที่มาและความสำคัญ

20 ธ.ค. 2566 | 17:40 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ธ.ค. 2566 | 17:46 น.

หนึ่งในประเพณีสำคัญของชาวจีนในช่วงปลายปีคือ "วันไหว้ขนมบัวลอย" หรือที่เรียกในภาษาจีนว่า "เทศกาลตังโจ่ย" มีขึ้นในเดือน 11 ตามปฏิทินจีน ไม่มีกำหนดวันตายตัว แต่หากยึดตามปฏิทินทางสุริยคติสากล ก็จะตรงกับวันที่ 22 ธันวาคม (ยกเว้นปีที่เป็นอธิกมาส จะตรงกับวันที่ 21 ธ.ค.)

สำหรับปี 2566 นี้ เทศกาลตังโจ่ย หรือ เทศกาลไหว้ขนมบัวลอย ตรงกับวันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม ตั้งแต่โบราณกาลมา เทศกาลนี้ยังมีอีกชื่อเรียกว่า "เทศกาลฤดูหนาว" เนื่องจากเป็นวันเปลี่ยนเข้าสู่ฤดูหนาว เป็นวันที่พระอาทิตย์ส่องแสงสั้นที่สุด พระอาทิตย์อยู่ไกลไปทางทิศใต้ เงาของพระอาทิตย์จะทอดยาวที่สุด และเมื่อผ่านพ้นวันนี้ไปแล้ว พระอาทิตย์จะเริ่มโคจรตามปกติสู่ทางทิศเหนือ เวลากลางวันจะเริ่มยาวขึ้นตามลำดับ และนี่คือเทศกาลสุดท้ายของชาวไทยเชื้อสายจีนในรอบหนึ่งปีปฏิทิน

ไฮไลท์ของเทศกาลนี้ คือ การทำขนมบัวลอย หรือ “ขนมอี๋” มาไหว้ฟ้าดิน ปึงเถ่ากง ตี่จู่เอี้ย (เจ้าที่) เพื่อขอบคุณที่ได้ช่วยให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวสามารถดำรงชีวิตมาได้อย่างราบรื่นตลอด 1 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังเพื่อขอพรให้ช่วยคุ้มครองสมาชิกในครอบครัวต่อไปด้วย ใครมีเคราะห์อยู่ก็เชื่อว่าเมื่อไหว้แล้วจะทำให้หมดเคราะห์หมดโศก

ที่มาของประเพณีดังกล่าวมาจากการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในช่วงฤดูหนาวเพื่อให้คุ้มครองสัตว์เลี้ยง และขอพรให้พืชผลทางการเกษตรเจริญงอกงามได้ดี และผู้คนมีสุขภาพแข็งแรง

ลักษณะกลมๆของขนม ยังหมายถึงความกลมเกลียวของคนในครอบครัวด้วย

สำหรับ ของที่ใช้ในการไหว้ขนมบัวลอย นั้น ประกอบด้วย

  • กระถางธูป
  • เทียนแดง 1 คู่
  • ขนมบัวลอย 5 ถ้วย
  • ผลไม้ 5 อย่าง
  • น้ำชา 5 ถ้วย
  • ธูปสำหรับจุดไหว้ คนละ 3 ดอก หรือ 5 ดอก (จำนวนแล้วแต่ความเชื่อตามแต่ละท้องที่)
  • กระดาษเงินกระดาษทอง และเครื่องบรรณาการต่าง ๆ

ทั้งนี้ จำนวนของที่ใช้ในการไหว้อาจปรับเปลี่ยนไปตามความสะดวกและความเชื่อตามแต่ละท้องที่

ชาวจีนให้ความสำคัญกับเทศกาลตังโจ่ยไม่แพ้วันตรุษจีน เพราะถือเสมือนเทศกาลสิ้นปี

ส่วนขนมบัวลอย หรือขนมอี๋ ที่ใช้ในการไหว้นั้น ทำมาจากแป้งข้าวเหนียวนวดกับน้ำต้มสุกจนเข้าที่และปั้นเป็นเม็ดกลม ๆ เล็ก ๆ นิยมผสมสีชมพู สีขาว เมื่อปั้นเสร็จก็นำไปต้มในน้ำเดือด คล้ายกับการทำบัวลอยของไทย แต่ขนมอี๋จะต้มในน้ำเชื่อมโดยใช้น้ำตาลทรายขาวหรือน้ำตาลทรายแดงแทนกะทิ ที่สำคัญจะต้องมีขนมอี๋ลูกใหญ่ที่เรียกว่า “อีโบ้” ใส่ลงไปในถ้วยขนมอี๋ที่จะไหว้ถ้วยละ 1 ลูกด้วย

ขนมบัวลอยถือเป็นขนมมงคลอีกชนิดหนึ่งของคนจีน สามารถใช้ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ รวมทั้งในพิธีแต่งงาน

ในสมัยโบราณชาวจีนเรียกขนมบัวลอยว่า ฝูหยวนจื่อ (浮圆子) 浮 แปลว่า ลอย และ 圆子 แปลว่า ลูกกลม ๆ ต่อมาภายหลังเรียกว่า ทังถวน (汤团) 汤 แปลว่า น้ำแกง ส่วน 团 แปลว่า ทรงกลม หรือเรียกว่า ทังหยวน (汤圆) ซึ่งมีความหมายเหมือนกันและออกเสียงใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ อักษร 团圆 เมื่อรวมกันแล้วมีความหมายว่า การได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันของคนในครอบครัว ลักษณะกลมๆของขนม ยังหมายถึงความกลมเกลียวของคนในครอบครัวด้วย

แต่ในประเทศไทยอาจจะคุ้นเคยกับการเรียกชื่อขนมบัวลอยว่า ขนมอี๋ เนื่องจากเป็นการออกเสียงตามสำเนียงจีนแต้จิ๋วนั่นเอง

ชาวจีนให้ความสำคัญกับเทศกาลตังโจ่ยไม่แพ้วันตรุษจีน เพราะถือเสมือนเทศกาลสิ้นปี ผู้คนจะปิดร้านรวงและบ้านเรือน ทำบุญตามวัด หรือไหว้เจ้า