วันนี้ (วันที่ 4 ธันวาคม 2567) รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เห็นชอบร่วมกันให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน มาประดิษฐานที่กรุงเทพมหานคร เป็นการชั่วคราว เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และในโอกาสการครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - จีน ในปี 2568
โดยเปิดให้ประชาชนสักการะระหว่างวันที่ 4 ธันวาคม 2567 - 14 กุมภาพันธ์ 2568 รวมเป็นเวลา 73 วัน ณ ท้องสนามหลวง และจะอัญเชิญกลับสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568
ทั้งนี้รัฐบาลเตรียมอัญเชิญมาวันที่ 4 ธันวาคม 2567 โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และมีสมเด็จพระราชาคณะ ซึ่งกรรมการมหาเถรสมาคมมอบหมาย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ซึ่งจะมีการถ่ายทอดบรรยากาศสด พิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากจีนสู่ไทย เริ่ม 16.00 น.ของวันนี้
ริ้วขบวนจะเริ่มจากลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ไปยังท้องสนามหลวง จำนวน 24 ขบวน ผู้เข้าร่วมเดินริ้วขบวนจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สำนักพระราชวัง กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร โรงเรียนจิตอาสา 904 สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย สมาคมอุปรากรจีนแห่งประเทศไทย ผู้แทน 5 ศาสนาทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดูและซิกข์ พุทธศาสนิกชนและกลุ่มชาติพันธุ์ จำนวนทั้งหมดกว่า 2,700 คน
รัฐบาลขอเชิญชวนประชาชนร่วมรับ และชมด้วยตนเองตลอดตามเส้นทางริ้วขบวน หรือ รับชมการถ่ายทอดสด โดยช่อง 7 ออนไลน์
ถ่ายทอดสดผ่านทุกช่องทางออนไลน์ ตั้งแต่เวลา 16.00 น.วันนี้ ทุกช่องทาง ดังนี้
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการประสานงานการดำเนินโครงการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) นำคณะผู้แทนไทย ประกอบด้วย นายวัฒนา เตียงกูล ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายภูมินทร ปลั่งสมบัติ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจําสํานักนายกรัฐมนตรี และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยคณะสงฆ์ไทย นำโดย พระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส เดินทางไปยังวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง เพื่อดำเนินพิธีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) มาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว
เวลา 04.00 น. พระสงฆ์ฝ่ายไทยและฝ่ายจีน ได้ร่วมประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ออกจากพระวิหารวัดหลิงกวง ไปยังขบวนรถยนต์อัญเชิญเพื่อเดินทางออกจากวัดหลิงกวง ไปยังท่าอากาศยานกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีรถคณะผู้แทนไทยรวมในขบวนฯ ถึงยังอาคารพิเศษ ท่าอากาศยานกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
เวลา 06.20 น. นายเฉิน รุ่ยเฟิง รัฐมนตรีประจำสำนักงานกิจการศาสนาแห่งชาติจีน ส่งมอบพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) และนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการประสานงานการดำเนินโครงการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ผู้แทนไทย รับมอบพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) โดยมีพระสงฆ์ฝ่ายไทยและฝ่ายจีน รวมถึงคณะผู้แทนฝ่ายไทยและฝ่ายจีน ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครรราชฑูตไทย ณ กรุงปักกิ่งร่วมพิธี
เวลา 06.40 น. เจ้าหน้าที่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ขึ้นสู่เครื่องบินพิเศษอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว และคณะผู้อัญเชิญฝ่ายไทยและจีนเดินทางออกจากท่าอากาศยานกรุงปักกิ่ง ไปยังท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 กรุงเทพฯ ถึงยังท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 กรุงเทพฯ กรุงเทพฯ ประมาณ 13.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย
รัฐบาลจะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าสักการะในวันเวลา ดังนี้
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะจัดเตรียมดอกไม้สักการะสำหรับให้ประชาชน โดยประชาชนไม่ต้องนำมาเอง และอัญเชิญกลับในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568
ส่วนของการจัดงาน ได้จัดให้มีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
จำนวน 5 โซน ประกอบด้วย
โซนที่ 1 : "ดับขันธปรินิพพาน มกุฎพันธนเจดียสถาน" นำเสนอเรื่องราวพุทธประวัติในการประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จปรินิพพาน โดยเน้นในช่วงพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน
โซนที่ 2 : "พุทธะบารมีพระสรีระธาตุ" นำเสนอเรื่องราวประวัติของพระสรีระธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุที่ได้อัญเชิญไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของโลก
โซนที่ 3 : "พระเขี้ยวแก้ว" นำเสนอเรื่องราวประวัติ ความสำคัญ และความเป็นมาของพระบรมสารีริกธาตุ(พระเขี้ยวแก้ว)
โซนที่ 4 : "ใต้ร่มเศวตฉัตร ทศมรัช พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว" เป็นนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยที่ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกและมีพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนา สืบสานราชประเพณีสืบเนื่องมาจนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ
โซนที่ 5 : "ความสัมพันธ์ ไทย-จีน" นำเสนอเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญที่สร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนในด้านต่าง ๆ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ส่งเสริมคำว่า "จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน"