กาญจนบุรี เมืองโบราณที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันปี จากหลักฐานการขุดค้นทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีในหลากหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์บ้านเก่า อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ หรือเมืองเก่ากาญจนบุรีแหล่งโบราณสถานในสมัยอยุธยาตอนปลาย
การเดินทางที่แสนยาวนานของกาลเวลา นำพาเรื่องราวมากมาย ทั้งที่พิสูจน์ได้หรือเพียงแต่เล่าเรียงสืบต่อกันมา แต่สิ่งที่แน่นอน คือ ในทุกการเปลี่ยนผ่านของห้วงเวลาย่อมเกิดเหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลงมากมาย และการเปลี่ยนแปลงนั้น ได้สะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในยุคนั้นเสมอ
เช่นเดียวกับพื้นที่ลุ่มน้ำแควใหญ่ แถบเขื่อนศรีนครินทร์ ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี หรือในอดีตถูกขนานนามว่า เขื่อนเจ้าเณร เขื่อนอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ของภูมิภาคตะวันตก ซึ่งภูมิประเทศบางส่วน ในอดีตเคยเป็นสมรภูมิรบตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ทั้งยังเป็นจุดกำเนิดของตำนานวีรบุรุษสงครามเก้าทัพ นามว่า“พระองค์เจ้าขุนเณร” พระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม สถาปนาขึ้นเป็นเจ้านายในพระราชวงศ์จักรี
พระองค์เจ้าขุนเณร นับว่าเป็นเจ้านายที่มีพระปรีชาด้านการศึกสงครามเป็นอย่างมาก เมื่อปีพุทธศักราช 2328 พระองค์ได้รับมอบภารกิจสำคัญ โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล วังหน้าพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าขุนเณรนำทัพกองกำลังพิเศษ จำนวน 1,800 นาย ขึ้นไปสกัดทัพพม่าในศึกสงครามเก้าทัพ ณ บ้านท่ากระดาน เมืองกาญจนบุรี ซึ่งสงครามเก้าทัพ เป็นสงครามระหว่างอาณาจักรพม่าในราชวงศ์คอนบอง หรือโก้นบอง กับกรุงรัตนโกสินทร์
หลังจากรัชกาลที่ 1 สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแห่งใหม่ได้ไม่นาน ฝั่งพม่านำทัพมาโดยพระเจ้าปดุง ยกทัพมาจำนวน 9 ทัพ กำลังพลทหารพม่าทั้งหมดราว 144,000 นาย ส่วนฝั่งไทยมีเพียง 4 ทัพ กำลังพลราว 70,000 นายเท่านั้น ซึ่งกองกำลังรบพิเศษของพระองค์เจ้าขุนเณรได้ใช้กลยุทธ์การรบแบบกองโจร คอยดักซุ่มโจมตีและทำลายกองเสบียงของทัพพม่าที่ส่งมาจากเมืองเมาะตะมะ ทวาย และตะนาวศรี ตามแนวลุ่มน้ำแควน้อย
ทำให้ทัพพม่าขาดแคลนเสบียงเป็นเวลานานถึง 3 เดือน ช่วยแก้ไขสถานการณ์ที่เพลี่ยงพล้ำให้กลายเป็นได้เปรียบอย่างคาดไม่ถึง อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทัพหลวงของไทยสามารถเอาชนะทัพพม่าในศึกสงครามเก้าทัพครั้งนั้นได้สำเร็จ และตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์จากหนังสืออานามสยามยุทธ พระองค์เจ้าขุนเณรยังได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นแม่ทัพนายกองโจรเข้าร่วมรบในสงครามเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งถือเป็นกรณียกิจครั้งสุดท้ายอีกด้วย
พระองค์เจ้าขุนเณรจึงเป็นเจ้านายที่มีความผูกพันธ์กับเมืองกาญจนบุรี ชาวบ้านทั้งชาวไทยและกลุ่มชนชาติพันธุ์ในแถบนั้น รักและเคารพพระองค์เป็นอย่างมาก เพราะหลังจากสิ้นศึกสงคราม พระองค์ยังได้เดินทางไปมาเพื่อทำการค้าขายของป่าในแถบนี้อยู่เป็นประจำ
ส่วนที่มาของชื่อ “บ้านเจ้าเณร” เล่าย้อนกลับไปครั้นเมื่อพระองค์เจ้าขุนเณรเดินทางไปยังเมืองกาญจนบุรีในสมัยสงครามเก้าทัพ พระองค์ได้ตั้งค่ายขุนเณรขึ้น และปรากฏว่าบริเวณใกล้เคียงมีกลุ่มชาวบ้านมาตั้งถิ่นฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแควใหญ่ ทั้งคนไทย ละว้า ข่า มอญ และกะเหรี่ยง ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านนั้นว่า บ้านเจ้าเณร หรือบ้านพ่อขุนเณร ตามพระนามของพระองค์เจ้าขุนเณรตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เมื่อกาลเวลาผ่านไป พื้นที่สมรภูมิรบในอดีต ถูกพัฒนาและปรับเปลี่ยนชัยภูมิเรื่อยมา จนปัจจุบันกลายสภาพเป็นพื้นที่แหล่งพลังงานสะอาดที่สำคัญของจังหวัดกาญจนบุรี เขื่อนอเนกประสงค์ขนาดใหญ่แห่งแรกของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่กลอง หรือรู้จักกันทั่วไปในชื่อ “เขื่อนศรีนครินทร์” เริ่มก่อสร้างในปี 2516 สันเขื่อนตั้งตระหง่านกั้นกลางลำน้ำแควใหญ่ บริเวณบ้านเจ้าเณร จึงถูกเรียกว่า “เขื่อนเจ้าเณร” เป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำรวม 419 ตารางกิโลเมตร และเป็นอ่างเก็บน้ำที่มีความจุมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ คือ 17,745 ล้านลูกบาศก์เมตร
โดยก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2523 จากนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระนามาภิไธยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมาขนานนามเขื่อนศรีนครินทร์ และเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปทรงเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2524 ทำให้ชื่อของเขื่อนเจ้าเณรค่อย ๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คนตามการเดินทางของกาลเวลา
อีกไม่นาน เขื่อนศรีนครินทร์จะถูกพัฒนาและเดินหน้าใช้ประโยชน์บนพื้นที่ผืนน้ำ ของอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ กำลังผลิตรวม 720 เมกะวัตต์ ทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2569 ปี 2572 และปี 2575 ตามลำดับ ยกระดับผืนน้ำที่ว่างเปล่าเป็นน่านน้ำพลังงานสะอาดสุดทันสมัยของภาคตะวันต
ใครจะเชื่อว่า จากสมรภูมิสงครามแห่งประวัติศาสตร์ในอดีตเมื่อสองร้อยปีก่อน วันนี้จะกลายเป็นชัยภูมิพลังงานสีเขียวแห่งอนาคตบนผืนน้ำนับพันไร่ ณ สถานที่เดิม ชื่อเรียกขานเดิม เพียงแต่คนละห้วงเวลา กลับนำพาความเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงมาบรรจบกันได้อย่างลงตัว จากแผ่นดินกลายเป็นผืนน้ำ จากสมรภูมิสงครามกลายเป็นแหล่งพลังงานสะอาด
ในอนาคตข้างหน้า อีกหลายร้อยหรือหลายพันปี ไม่มีใครบอกได้ว่า “ที่นี่ ... บ้านเจ้าเณร”จะถูกกาลเวลาหรือโชคชะตาแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นสถานที่ใด รูปแบบไหน หรือจะคอยทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวสำคัญอะไรต่อไปอีกกันแน่