10 ปรากฏการณ์ ดาราศาสตร์ ปี 2568 “ดาวเคียงเดือน“ เริ่มวันนี้

03 ม.ค. 2568 | 21:50 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ม.ค. 2568 | 00:35 น.

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เผย 10 ปรากฏการณ์ ดาราศาสตร์ ปี 2568 เริ่ม "ดาวเคียงเดือน" วันที่ 4 มกราคมนี้ รวมถึงจันทรุปราคาเต็มดวง-ฝนดาวตก และอื่นๆ ตลอดทั้งปี

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุว่า ในปี 2568 มี 10 ปรากฏการณ์ดาราศาสต์ที่น่าสนใจและให้ติดตาม โดยจะเริ่มปรากฏการณ์แรกวันที่ 3-4 เดือนมกราคม คือ "ดาวเคียงเดือน" และ "ฝนดาวตก" ไปจนถึงปรากฏการณ์ฤดูทางดาราศาสตร์ "วันเหมายัน" ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 21 เดือนธันวาคม สามารถเรียงลำดับ ดังนี้

Timeline ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ 12 เดือน ปี 2568 

เดือนมกราคม

  • 3-4 มกราคม : ฝนดาวตก กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ 
  • 4 มกราคม : ดวงจันทร์เคียงดาวเสาร์ 
  • 12-16 มกราคม : ดาวอังคารใกล้โลกและอยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์
  • 18 มกราคม : ดาวศุกร์เคียงดาวเสาร์

เดือนกุมภาพันธ์ 

  • 1 กุมภาพันธ์ : ดวงจันทร์เคียงดาวเสาร์
  • 16 กุมภาพันธ์ : ช่วงหัวค่ำ ดาวศุกร์สว่าง

เดือนมีนาคม

  • 20 มีนาคม : วันวสันตวิษุวัต
  • 23-24 มีนาคม : เกิดดาวเสาร์เสมือนไร้วงแหวน

เดือนเมษายน

  • 11 เมษายน : ดาวพุธเคียงดาวเสาร์ 
  • 29 เมษายน : ดาวศุกร์เคียงดาวเสาร์
  • 13 เมษายน : ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้-ไกลโลกที่สุดในรอบปี (Micro Full Moon)
  • 22-23 เมษายน : ฝนดาวตก กลุ่มดาวพิณ 
  • 24 เมษายน : ช่วงเช้ามืด ดาวศุกร์สว่าง
  • 25 เมษายน : ดวงจันทร์เคียงดาวศุกร์และดาวเสาร์ 
  • 26 เมษายน : ดวงจันทร์เคียงดาวพุธ 
  • 27 เมษายน : ดวงอาทิตย์ตั้งฉากประเทศไทย

10 ปรากฏการณ์ ดาราศาสตร์ ปี 2568 “ดาวเคียงเดือน“ เริ่มวันนี้ พฤษภาคม

  • 5-6 พฤษภาคม : ฝนดาวตก กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ 
  • 2 พฤษภาคม : ดวงจันทร์เคียงดาวพอลลักซ์และคาสเตอร์ 
  • 23 พฤษภาคม : ดวงจันทร์เคียงดาวเสาร์ 
  •  24 พฤษภาคม : ดวงจันทร์เคียงดาวศุกร์

มิถุนายน

  • 1 มิถุนายน : ดวงจันทร์เคียงดาวอังคาร
  • 21 มิถุนายน : วันครีษมายัน

เดือนกรกฎาคม

  • 30-31 กรกฎาคม : ฝนดาวตก กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ

เดือนสิงหาคม

  • 12 สิงหาคม : ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัส
  • 16 สิงหาคม : ดวงอาทิตย์ตั้งฉากประเทศไทย

เดือนกันยายน

  • 21 กันยายน : ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี
  • 7-8 กันยายน : จันทรุปราคาเต็มดวง
  • 23 กันยายน : วันศารทวิษุวัต

เดือนตุลาคม 

  • 21-22 ตุลาคม : ฝนดาวตก กลุ่มดาวนายพราน

เดือนพฤศจิกายน 

  • 5 พฤศจิกายน : ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้-ไกลโลกที่สุดในรอบปี (Super Full Moon)
  • 17-18 พฤศจิกายน : ฝนดาวตก กลุ่มดาวสิงโต 

เดือนธันวาคม

  • 14-15 ธันวาคม : ฝนดาวตก กลุ่มดาวคนคู่
  • 21 ธันวาคม : วันเหมายัน
  • 22-23 ธันวาคม : ฝนดาวตก กลุ่มดาวหมีเล็ก 

สำหรับ 10 ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ มีรายละเอียดวัน-เวลา และช่วงที่จะเกิดขึ้น ดังนี้

1. ดาวอังคารใกล้โลก และ ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์

  • วันที่ 12 - 16 มกราคม 2568 : คืนวันที่ 12 มกราคม 2568 ดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ตำแหน่งใกล้โลกที่สุด ระยะห่างประมาณ 96 ล้านกิโลเมตร และหลังจากนั้นจะโคจรไปอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์วันที่ 16 มกราคม 2568 ช่วงดังกล่าวสามารถสังเกตดาวอังคารได้ตลอดทั้งคืน ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จนถึงดวงอาทิตย์ขึ้นในเช้าวันถัดไป ซึ่งดาวอังคารจะเคลื่อนมาอยู่ในตำแหน่งนี้ทุก ๆ 26 เดือน

10 ปรากฏการณ์ ดาราศาสตร์ ปี 2568 “ดาวเคียงเดือน“ เริ่มวันนี้

2. ดาวศุกร์สว่างที่สุดมี 2 ครั้ง

  • ครั้งที่ 1 ช่วงหัวค่ำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 : ปรากฏสว่างเด่น เห็นชัดเจนด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าจนถึงเวลาประมาณ 21:00 น. และ 
  • ครั้งที่ 2 ช่วงเช้ามืดวันที่ 24 เมษายน 2568 : ปรากฏสว่างเด่น เห็นชัดเจนด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 03:51 น. จนดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า 

โดยดาวศุกร์จะสว่างที่สุด (The Greatest Brilliancy) และสามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นหรือหลังดวงอาทิตย์ตกเท่านั้น และหากเห็นดาวศุกร์ทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำ คนไทยมักเรียกว่า “ดาวประจำเมือง” หากเห็นดาวศุกร์ทางทิศตะวันออกในช่วงเช้ามืด คนไทยมักเรียกว่า “ดาวประกายพรึก”

3. ดาวเสาร์เสมือนไร้วงแหวน

  • วันที่ 23 - 24 มีนาคม 2568 : เป็นช่วงที่วงแหวนดาวเสาร์มีมุมเอียงน้อยที่สุด ผู้สังเกตบนโลกจึงมองเห็นดาวเสาร์เสมือน "ไร้วงแหวน" ซึ่งมุมเอียงของวงแหวนดาวเสาร์จะเปลี่ยนแปลงไปตามการโคจรของดาวเสาร์รอบดวงอาทิตย์ หนึ่งรอบใช้เวลาประมาณ 29.4 ปี ส่งผลให้ดาวเสาร์จะปรากฏเสมือน "ไร้วงแหวน" เมื่อมองจากโลกในทุก ๆ 15 ปี นักดาราศาสตร์สามารถใช้ช่วงเวลานี้ในการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฝุ่นและอนุภาคในวงแหวนดาวเสาร์ เป็นหนึ่งในความมหัศจรรย์ของการสังเกตการณ์ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ

4. ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี

  • วันที่ 21 กันยายน 2568 : ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (Saturn Opposition) หมายถึง ดวงอาทิตย์ โลก และดาวเสาร์ เรียงกันในแนวเส้นตรง ส่งผลให้ดาวเสาร์มีระยะใกล้โลกที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 1,279 ล้านกิโลเมตร ในวันดังกล่าวจะสังเกตดาวเสาร์ได้ทางทิศตะวันออกหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ปรากฏสว่างเด่นชัดตลอดทั้งคืน จนกระทั่งดวงอาทิตย์ขึ้นในเช้าวันถัดไป ซึ่งดาวเสาร์จะใกล้โลกทุก ๆ 378 วัน 

10 ปรากฏการณ์ ดาราศาสตร์ ปี 2568 “ดาวเคียงเดือน“ เริ่มวันนี้

5. จันทรุปราคาเต็มดวง

  • 7 กันยายน 2568 เวลา 22:29 น. ถึงเช้ามืดวันที่ 8 กันยายน 2568 เวลา 03:55 น. (ตามเวลาประเทศไทย) : เป็นปรากฏการณ์ "จันทรุปราคาเต็มดวง" สังเกตได้หลายพื้นที่ทั่วโลก ได้แก่ ยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย แอฟริกา ตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ ตะวันออกของทวีปอเมริกาใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย ขั้วโลกเหนือ และขั้วโลกใต้ สำหรับประเทศไทยสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าตลอดปรากกฏการณ์ ซึ่งช่วงที่เกิดคราสเต็มดวง ดวงจันทร์จะปรากฏเป็นสีแดงอิฐ ตั้งแต่เวลา 00:31 ถึง 01:53 น. รวมระยะเวลานาน 1 ชั่วโมง 22 นาที

ลำดับการเกิดปรากฏการณ์

  • วันที่ 7 กันยายน 2568 เวลา 22:29 น. เริ่มเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว เวลา 23:27 น. เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน
  • วันที่ 8 กันยายน 2568 เวลา 00:31 น. เริ่มเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง เวลา 01:12 น.กึ่งกลางคราส เวลา 01:53 น. สิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง เวลา 02:57 น.สิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน และ เวลา 03:55 น.สิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว

6. ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้-ไกลโลกที่สุดในรอบปี 2 วัน

  • วันที่ 13 เมษายน 2568 : ปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี” (Micro Full Moon) มีระยะห่างจากโลกประมาณ 405,995 กิโลเมตร คืนดังกล่าวจะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเล็กว่าปกติเล็กน้อย เริ่มสังเกตการณ์ได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:48 น. เป็นต้นไป
  • วันที่ 5 พฤศจิกายน 2568 : ปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” (Super Full Moon) มีระยะห่างจากโลกประมาณ 356,966 กิโลเมตร คืนดังกล่าวจะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย เริ่มสังเกตการณ์ได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออกตั้งแต่เวลาประมาณ 17:31 น. เป็นต้นไป

สำหรับเดือนดวงจันทร์ผ่านตำแหน่งใกล้โลกที่สุด เรียกว่า “Perigee” และไกลโลกที่สุดเรียกว่า “Apogee” อยู่เสมอ แต่เมื่อใดก็ตามที่ดวงจันทร์เต็มดวงและอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้โลกที่สุดในรอบปี จะเรียกว่า “Super Full Moon” ในทางตรงกันข้าม หากดวงจันทร์เต็มดวงและอยู่ในตำแหน่งที่ห่างไกลโลกที่สุดในรอบปี จะเรียกว่า “Micro Full Moon”

7. ฝนดาวตก

10 ปรากฏการณ์ ดาราศาสตร์ ปี 2568 “ดาวเคียงเดือน“ เริ่มวันนี้

ฝนดาวตก (Meteor showers) เกิดจากการที่โลกโคจรตัดผ่านสายธารของเศษหินและฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ในอวกาศ โดยแรงโน้มถ่วงของโลกจะดึงดูดเศษวัตถุเหล่านี้เข้ามา ทำให้เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศเกิดดาวตกบนท้องฟ้า บางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่เรียกว่า Fireball ทั้งนี้ “ฝนดาวตก” แตกต่างจาก “ดาวตก” ทั่วไป คือมีทิศทางที่เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่ออยู่ใกล้เคียงกับกลุ่มดาวใดก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้น ๆ โดยฝนดาวตกแต่ละชุดจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดิมของทุกปี ตามการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์และอยู่ที่ตำแหน่งเดิมเสมอ 

8. ดาวเคียงเดือน และ ดาวเคราะห์ชุมนุม

10 ปรากฏการณ์ ดาราศาสตร์ ปี 2568 “ดาวเคียงเดือน“ เริ่มวันนี้

“ดาวเคียงเดือน” เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์หนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เนื่องจากดวงจันทร์และดาวเคราะห์เปลี่ยนตำแหน่งบนท้องฟ้าไปเรื่อย ๆ ตามแนวสุริยะวิถี มองในมุมมองจากโลกจึงเห็นดวงจันทร์และดาวเคราะห์ปรากฏบนท้องฟ้าในทิศเดียวกัน หรือเคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกันอ ส่วน “ดาวเคราะห์ชุมนุม” หมายถึง ดาวเคราะห์ตั้งแต่ 2 ดวงขึ้นไปปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้าที่ระยะห่างเชิงมุม 1-5 องศา หากมองด้วยตาจะเห็นดาวทั้งสองห่างกันประมาณหนึ่งนิ้วก้อย (การวัดระยะเชิงมุมบนท้องฟ้า ชูนิ้วก้อยเหยียดแขนให้สุดขึ้นบนท้องฟ้า ระยะ 1 องศา จะห่างกันประมาณ 1 นิ้วก้อย)

9. ดวงอาทิตย์ตั้งฉากประเทศไทย

  • วันที่ 16 สิงหาคม 2568 และภาคใต้ในช่วงเดือนกันยายน 
  • วันที่ 27 เมษายน 2568 และภาคเหนือในเดือนพฤษภาคม และครั้งที่สองในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน

ปรากฏการณ์นี้มีเพียง 1 - 2 วันต่อปีเท่านั้น โดยดวงอาทิตย์จะตั้งฉากกับผู้สังเกตบนโลก ทำให้เมื่อยืนกลางแดดในช่วงเที่ยงของวันดังกล่าว จะสังเกตเห็นเงาของร่างกายทอดอยู่ใต้เท้าพอดี ไม่เฉียงไปด้านใดด้านหนึ่ง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “วันไร้เงา” ประเทศไทยมีช่วงที่ดวงอาทิตย์ผ่านจุดเหนือศีรษะ 2 ครั้งในรอบปี ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของผู้สังเกตตั้งแต่ 23.5 องศาเหนือไปจนถึงละติจูด 23.5 องศาใต้

10. ฤดูกาลทางดาราศาสตร์

  • วันที่ 20 มีนาคม 2568 : ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน เรียกว่า “วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox)” ซีกโลกเหนือเป็นฤดูใบไม้ผลิ ซีกโลกใต้เป็นฤดูใบไม้ร่วง
  • วันที่ 21 มิถุนายน 2568 : ขั้วโลกเหนือชี้เข้าหาดวงอาทิตย์ เรียกว่า “วันครีษมายัน (Summer Solstice)” กล่าวคือ เป็นวันที่ดวงอาทิตย์เฉียงไปทางเหนือมากที่สุดคือ 23.5 องศา ผู้ที่อยู่ซีกโลกเหนือจะอยู่ในช่วงฤดูร้อน และวันดังกล่าวเป็นวันที่มี “กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี” ในขณะที่ซีกโลกใต้จะอยู่ในช่วงฤดูหนาว และเป็นวันที่ “กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี”

10 ปรากฏการณ์ ดาราศาสตร์ ปี 2568 “ดาวเคียงเดือน“ เริ่มวันนี้

  • วันที่ 23 กันยายน 2568 : ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดีอีกครั้ง ส่งผลให้กลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากันเรียกว่า “วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox)” ซีกโลกเหนือเปลี่ยนจากฤดูร้อนเป็นฤดูใบไม้ร่วง ซีกโลกใต้เปลี่ยนจากฤดูหนาวเป็นฤดูใบไม้ผลิ อีกทั้งยังเป็นวันที่มีกลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน
  • วันที่ 21 ธันวาคม 2568 : ขั้วโลกใต้ชี้เข้าหาดวงอาทิตย์ เรียกว่า “วันเหมายัน (Winter Solstice)” กล่าวคือ เป็นวันที่ดวงอาทิตย์เฉียงไปทางใต้มากที่สุด คือ -23.5 องศา ผู้ที่อยู่ซีกโลกเหนือจะอยู่ในช่วงฤดูหนาว และวันดังกล่าวเป็นวันที่มี “กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี” ในขณะที่ซีกโลกใต้จะอยู่ในช่วงฤดูร้อน และเป็นวันที่ “กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี” (ตรงข้ามกับ Summer Solstice)

ทั้งนี้ ในฤดูร้อนดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า ช่วงเวลากลางวันจะยาวนานกว่ากลางคืน แตกต่างกับฤดูหนาว ที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว และมีช่วงเวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน ทำให้เกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ 

 

 

ที่มา เนื้อหาและภาพบางส่วน :

เว็บไซต์กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)