แดดร่มลมตก พร้อมพกกระเป๋าใบเก๋ ๆ ลัดเลาะไปบนเส้นทางเลียบเมืองกรุงเทพฯ ไม่นานนักก็ถึงจุดหมายปลายทางริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา นั่นก็คือ “บางกะเจ้า” พื้นที่สีเขียวใกล้กรุง มีลักษณะพิเศษเป็นคุ้งแม่น้ำใหญ่ ขนาด 12,000 ไร่ เป็นส่วนหนึ่งของเมือง “พระประแดง” จังหวัดสมุทรปราการ
พื้นที่สีเขียวแห่งนี้ นับเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนที่สำคัญ เพราะเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ล้อมรอบด้วยลำน้ำเจ้าพระยาเกือบทุกทิศ ใครได้เข้ามาถึงที่นี่เหมือนหลุดไปยังโลกอีก โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปไกลหลายชั่วโมง
ที่สำคัญ “บางกะเจ้า” ยังมีประวัติศาสตร์คู่สยามมายาวนานตั้งแต่ช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา นั่นจึงทำให้พื้นที่นี้ พรั่งพร้อมด้วยประเพณีวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาวไทย จีน และมอญ ผสมกลมกลืนไปกับวิถีชีวิตเกิดเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่แตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน จนเกิดเป็นอัตลักษณ์ที่ทรงคุณค่าหาที่ไหนเหมือน
ด้วยศักยภาพของทุนวัฒนธรรมและทุนทางธรรมชาติของคุ้งบางกะเจ้า จึงตอบโจทย์การเป็นพื้นที่ที่นำมาต่อยอดให้ดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน โดยยังรักษาความเป็นวิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และพัฒนาการสร้างรายได้จากแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน เพราะด้วยที่ตั้งซึ่งอยู่ใกล้กรุงเทพ จึงมีศักยภาพด้านการตลาดสูง ที่จะเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างประเทศ ให้เข้ามาเยือนคุ้งบางกระเจ้า
คณะของเราเดินทางไปยังพื้นที่ “บางกะเจ้า” ด้วยกันไม่ถึง 10 ชีวิต เพื่อไปเยี่ยมชมวิถีของคนอีกกว่า 4 หมื่นคน บนพื้นที่ 6 ตำบล ของบางกะเจ้า คือ ตำบลทรงคนอง ตำบลบางกระสอบ ตำบลบางน้ำผึ้ง ตำบลบางยอ ตำบลบางกะเจ้า และตำบลบางกอบัว
ซึ่งตำบลแต่ละแห่ง มีของดีของเด่นไม่เหมือนกัน เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว และผู้มาเยือน
ที่ผ่านมา องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.ซึ่งรับผิดชอบการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้เข้ามาทำงานกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ผลักดันให้เกิดโครงการพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมาตรฐานสากล
โดยดึงทุกภาคส่วนเข้ามาบูรณาการความร่วมมือ มีเป้าหมายยกระดับการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นบนฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และต่อยอดสู่การพัฒนาตลาดท่องเที่ยวคุณภาพสูงได้อย่างยั่งยืน
ปัจจุบันเป็นที่น่ายินดี เพราะการขับเคลื่อนพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่คุ้งบางกระเจ้า เริ่มจากระดับชุมชน จนเกิดการออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนใน 6 เส้นทาง แต่ละเส้นทางมีจุดเด่นด้านอัตลักษณ์แตกต่างกันออกไป ประกอบไปด้วย
1.เส้นทางสาย Cool ไปกับพื้นที่สีเขียวเที่ยวคุ้งบางกระเจ้า 2.เส้นทางสายชิมลิ้มรสหลากหลาย สไตล์คุ้งบางกระเจ้า 3.เส้นทางสายธรรมะศรัทธาที่คุ้งบางกระเจ้า 4.เส้นทางสาย Learn&Play สัมผัสเสน่ห์คุ้งบางกะเจ้า 5.เส้นทางสายสุขภาพดีที่คุ้งบางกะเจ้า 6. เส้นทางสายตามรอยศาสตร์พระราชาแห่งคุ้งบางกะเจ้า
นอกจากเส้นทางที่จัดทำขึ้นแล้ว “บางกะเจ้า” ยังได้กำหนดเทศกาลที่คงอัตลักษณ์และวิถีของชุมชนบางกะเจ้าใน 2 เทศกาล ประจำปี ได้แก่ เทศกาลพิธีแห่หงส์-ธงตะขาบ และ พิธีตักบาตรน้ำผึ้ง ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 14 เมษายนของทุกปี
คณะของเราได้มีโอกาสลงไปเยี่ยมชมเส้นทางท่องเที่ยวบางจุด ซึ่งนับว่าเป็นไฮไลท์ของการเดินทาง นั่นคือ ชุมชนตำบลบางกอบัว เป็นหนึ่งใน 6 ชุมชน ที่ร่วมกันคิดและพัฒนากันในพื้นที่ของตัวเอง เพื่อเฟ้นหาจุดเด่น มาพัฒนาให้เกิดเป็น “แหล่งท่องเที่ยวชุมชน”
มีกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะปั่นจักรยานไปตามเส้นทางสีเขียว พายเรือไปตามคลองที่มีการขุดลอกรื้อฟื้นคืนชีวิตในอดีตให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เกิดเป็นกิจกรรมแนววิถีชุมชน เชิญชวนนักท่องเที่ยวได้สัมผัสบางกะเจ้าในมุมที่แตกต่างออกไป
เมื่อนักท่องเที่ยวมาเยือน ชุมชนมีการต้อนรับด้วยอาหารว่างแบบไทยๆ ด้วย “เมี่ยงคำกลีบบัวพริกเกลือ” ไฮไลท์เด็ดของชุมชนบางกอบัว เมี่ยงที่นี่ใช้มะพร้าวที่ขูดแล้วนำไปคั่วจนกลิ่นหอม นำมาตำรวมกับเกลือและน้ำตาลให้กลมกล่อม ซึ่งจะให้รสชาติที่หวานๆ เค็มๆ ติดเผ็ดนิดๆ อร่อยลงตัว ส่วนกลีบบัวมาจากบัวหลวงที่ชุมชนปลูกไว้เองเพื่อให้มั่นใจได้ว่าปราศจากสารเคมีอย่างแน่นอน ตบท้ายด้วยน้ำตะลิงปลิง เปรี้ยวแซมนิดๆ พอชุ่มคอ แก้กระหาย
ชิมกันพอหอมปากหอมคอ จากนั้นถึงทางชุมชนได้พาทำกิจกรรมการทำผ้ามัดย้อมเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สุดสนุก โดยชุมชนได้หยิบเอาวัตถุดิบที่มีอยู่ในพื้นถิ่นจำนวนมาก เช่น เปลือกลูกจาก ขมิ้น ใบหูกวาง และดาวเรืองจะให้สีย้อมสีเหลือง ไม้ฝางให้สีย้อมสีแดงหรือชมพู กาบมะพร้าว ตะบูน จะให้สีย้อมสีน้ำตาล และใช้วัสดุใกล้ๆ ตัวมาลองมัดลองพัน และย้อมลงไปในสีธรรมชาติ แต่ละคนทำคนละผืน อยากทำลายอะไรแล้วแต่ใจจะปรารถนา เมื่อผลงานเสร็จ จะมีชิ้นเดียวในโลก
หลังจากทดลองฝีมือทำผ้ามัดย้อมแล้ว ในช่วงเวลาที่เอาผ้าไปต้มเพื่อให้สีเข้าไปถักเป็นลายบนผ้าขาว ช่วงเวลานี้ก็ไปนั่งเรือชมธรรมชาติรอเวลา โดยไปกันที่ ท่าเรือเล็กๆ หลังบ้านของ “สิทธิพงษ์ ภูถาวร” ประธานชุมชนส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลบางกอบัว ถูกนำมาปรับปรุงเป็นฐานกิจกรรมล่องเรือผ่านเส้นทางสายน้ำคลองแพ ระหว่างล่องเรือนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตของชาวบางกอบัวที่ผูกพันกับสายน้ำมาตั้งแต่อดีต
เมื่อก่อนคลองแพ คือ เส้นทางค้าขายทางน้ำที่สำคัญของชาวบ้านที่จะไปยังท่าเรือคลองเตย แต่เมื่อมีถนนตัดผ่านความสำคัญของคลองจึงลดน้อยลง ชาวบางกอบัวจึงเกิดความคิดที่จะรักษาวิถีแห่งคลองแพเพื่ออนุรักษ์รวมถึงฟื้นฟูเส้นทางเดินเรือให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญของชุมชน ให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ผูกพันกับสายน้ำมาแต่ในอดีต
การได้มานั่งเรือพายผ่านอุโมงค์ต้นจากท่ามกลางแสงแดดอ่อนๆ สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้น้อย-ใหญ่ บรรยากาศที่ร่มรื่น ซึมซับวิถีชีวิตริมฝั่งคลอง โดยการล่องเรือไป-กลับจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที โดยชมต้นจาก โกงกาง และป่าชายเลน ซึ่งนับเป็นแหล่งโอโซนชั้นดี ถึงเวลานี้เจ้าของพื้นที่ขออนุญาตชวนทุกคนถอดหน้ากากอนามัย สูดอากาศสดชื่นให้เต็มปอดตลอดลำน้ำ พร้อมทั้งฟังเสียงเห่เรือ ที่ดัดแปลงมาจากพิธีหลวง เล่าเรื่องราว และชีวิตของบางกะเจ้า
น่าเสียดายทริปนี้ มีเวลาจำกัด หากใครสนใจอยากเดินทางไปชมความสงบ ร่มรื่น และอาหารอร่อยๆ ก็สามารถเดินทางไปเที่ยว “บางกะเจ้า” กันได้ เดินทางไม่ไกลจากกรุงเทพฯ หรืออยากนั่งเรือข้ามฝากมาจากฝั่งคลองเตยก็ได้ ไม่สงวน
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,821 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2565