ซีไอเอ็มบีไทยพร้อมซัพพอร์ตนักธุรกิจไทยและบุคคลลงทุนในอาเซียน ชี้แนวโน้มศักยภาพแต่ละประเทศหนุนโอกาสกระจายความเสี่ยง แนะรัฐปรับโครงสร้างเศรษฐกิจดึงคนไทยและเอฟดีไอขยายธุรกิจในประเทศ
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย หนึ่งในธนาคารสมาชิกกลุ่มซีไอเอ็มบี กลุ่มการเงินชั้นนำของอาเซียน จัดงานแถลงข่าว ASEAN Outlook Amid COVID-19 วิเคราะห์การลงทุนในอาเซียนท่ามกลางพายุโควิดเนื่องในโอกาสวันอาเซียน ซึ่งตรงกับวันที่ 8 เดือน 8 ของทุกปี โดยในปี 2564นี้นำโดย ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย นายเกษม พันธ์รัตนมาลา, CFA กรรมการ และหัวหน้าฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) และนายดนัย อรุณกิตติชัย,CFA ผู้บริหารที่ปรึกษาการลงทุนและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน Wealth Advisory by CIMB THAI ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
ชี้ล็อคดาวน์เจ็บแต่จบสิ้นปี
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า การรวมกลุ่มของอาเซียนที่จะก้าวไปสู่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) 16ประเทศ( 10 ประเทศอาเซียน รวมกับ 5 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก คือ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) ซึ่งประเทศสมาชิกที่มากขึ้นจะเพิ่มโอกาสการค้าการลงทุนในภูมิภาคเพื่อรับมือกับวิกฤตโควิดที่ฉุดเศรษฐกิจแต่ละประเทศชะลอตัว ดังนั้น การค้าการลงทุนในภูมิภาคจะช่วยให้อาเซียนพลิกโอกาสขึ้นมาเติบโตได้ดีขึ้นหลังยุคโควิดเป็นต้นไป
มาตรการล็อกดาวน์ที่จำกัดกิจกรรมเศรษฐกิจในหลายประเทศ การฉีดวัคซีนในภูมิภาคนี้ล่าช้า รวมทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อสูง ส่งผลให้การค้าการลงทุนปีนี้ รวมถึงอุปสงค์ในแต่ละประเทศชะลอตามไปด้วย อย่างไรก็ดี การส่งออกของแต่ละประเทศยังมีศักยภาพเติบโตได้ดี อยู่ในระดับที่สูงราว 15-20% ในปีนี้ และปีหน้าประมาณ 10%ขึ้นอยู่กับการควบคุมการระบาดของโควิดไม่ให้ลามสู่ภาคการผลิตเพื่อการส่งออก
เช่นเดียวกับเศรษฐกิจของไทยปีนี้ที่ยังคงประมาณการจีดีพีไว้ 0.7%ปีหน้า 3-4% โดยการรวมมือRCEPและการเจรจาการค้าเสรีFTA จะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ซึ่งอาเซียนมีโอกาสทางธุรกิจเป็นศักยภาพที่เติบโตได้ในอนาคตสำหรับนักลงทุนไทย ด้วยศักยภาพแต่ละประเทศใน 3 ปัจจัย คือ เศรษฐกิจโตเร็ว ชนชั้นกลางเพิ่มต่อเนื่องสะท้อนภาพกำลังซื้อที่ดี และการเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่น
“ มองการระบาดของโควิดที่รุนแรง น่าจะเป็นปัจจัยชั่วคราว น่าจะถึงจุดสูงสุดเดือนกันยายน และถึงจุดสิ้นสุดได้ในปีนี้ จากการกระจายวัคซีนที่ดีขึ้น ประชากรมีภูมิคุ้มกันดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลง และพร้อมเปิดเมืองได้ เห็นได้จากประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงถึงจุดหนึ่งจะเริ่มลดลง และศักยภาพเศรษฐกิจในประเทศจะเริ่มกลับมาเติบโต และทะยานดีขึ้นปีหน้า
สำหรับกรณีฐานเศรษฐกิจไทยนั้น ถ้าควบคุมการระบาดได้ไตรมาส 3 เปิดประเทศกลางไตรมาส4 น่าจะเห็นการระบาดลดลงในเดือน ส.ค.-ก.ย. ส่วนประเด็นจีดีพีจะติดลบนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัย 1.ภาวะการล็อคดาวน์จะยืดเยื้อ รุนแรงแค่ไหน ถ้าล็อคดาวน์เจ็บแต่จบ แม้ปีนี้ได้รับผลกระทบ ปีหน้าน่าจะฟื้นได้ดีกว่าที่ดีกว่าคาด แต่ถ้าผู้ติดเชื้อยังสูงและขยายล็อคดาวน์ออกไปทั้งปีจะกระทบการบริโภคและภาคบริการ 2. ถ้าการระบาดลามถึงอุตสาหกรรมหรือภาคการผลิตเพื่อการส่งออก จนสายการผลิตโรงงานเดินต่อไม่ได้และ 3.การระบาดของสายพันธ์เดลตาในสหรัฐ หรือจีน จะส่งผลกระทบต่อการบริโภคจากต่างประเทศอาจจะลดความต้องการสินค้าจากไทยหากภาคส่งออกที่หวัง 15%ไม่เป็นไปตามคาด
หุ้นไทยมีโอกาสอัพไซส์ 10%
นายเกษม พันธ์รัตนมาลา, CFA กรรมการ และหัวหน้าฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในแง่ของธุรกิจไทยที่ออกไปลงทุนต่างประเทศ (TDI) สะท้อนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2559 แม้ปีก่อนจะเผชิญโควิดและโตต่อเนื่องมาถึงปีนี้ ส่วนใหญ่ไปลงทุนในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ส่วนผลตอบแทนจากการไปลงทุนอาจต้องรอ 3-5 ปี จะเห็นเงินลงทุนจะกลับเข้ามาในประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยแข็งแรงขึ้น จึงเป็นโจทย์สำหรับรัฐบาลรีบปรับปรุงเศรษฐกิจไทยให้น่าสนใจให้นักลงทุนคนไทยสามารถขยายธุรกิจในประเทศของตัวเองและดึงเงินทุนโดยตรงกลับเข้ามา
ขณะที่ เงินต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทย (FDI) สวนทางกับTDIโดยปีก่อน ติดลบ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุหลักน่าจะมาจากกลุ่มเทสโก้ในอังกฤษขายเทสโก้ในเมืองไทยออกไป
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2559 TDI สูงกว่า FDI เพราะโอกาสลงทุนในไทยไม่ค่อยเติบโตนัก เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งหลังโควิดศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะลดเหลือประมาณ 3% บวกกับปัญหาค่าแรงสูง ขณะแรงงานยังขาดทักษะ ซึ่งในส่วนนี้ซีไอเอ็มบีไทยพร้อมจะซัพพอร์ตธุรกิจไทยที่ต้องการขยายการลงทุนได้อยู่แล้ว
“ตลาดไทยไม่น่าสนใจในสายตาต่างชาติอีกต่อไป เพราะเราไม่ค่อยมีบริษัทที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ส่วนใหญ่เป็น sector ใหม่เกี่ยวกับเทคโนโลยี สินค้าไฮเทค สมาร์ทโฟน รถ EV ซึ่งต้องมีเงินทุนใหม่ๆ มารองรับ ถ้าถามว่าไทยจะมีอุตสาหกรรมใดที่จะพัฒนาเพื่อต่อยอดเศรษฐกิจของเราเองได้ เป็นคำถามที่รัฐบาลต้องนำไปคิด ทำไมต่างชาติเขามองข้ามเราไป หรือโครงสร้างพื้นฐานเราเองมีปัญหา เช่น เรื่องคน เรื่องการศึกษา แรงงานเราค่าแรงไม่ถูก แต่ทักษะสูงไม่พอหรือเปล่า รวมถึงระบบโลจิสติกส์ที่ไม่เอื้อ ทำให้ประเทศไทยขาดความน่าสนใจในการลงทุน อย่าว่าแต่นักลงทุนต่างชาติเลย แม้แต่นักลงทุนไทยยังไปลงทุนเพื่อนบ้าน” นายเกษม กล่าว
ด้านตลาดหุ้นไทย การระบาดของโควิดที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันทำสถิติใหม่ไม่หยุด ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันต่างชาติขายสุทธิไปแล้วกว่า 9 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนเทขายสุทธิรวม 2.6 แสนล้านบาทหากสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อลดไม่ถึงหลักหมื่นคนต่อวัน น่าจะเริ่มเห็นฟันด์โฟล์กลับมา แต่ถ้ายังควบคุมไม่ได้นักลงทุนต่างชาติยังคงรอ เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนอีก โดยเฉพาะตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่าลงมากว่า 10% ซึ่งแม้ตลาดหุ้นไทยจะปรับขึ้น 5%แต่ยังทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน
หากไตรมาส3 สามารถควบคุมสถานการณ์ได้และไตรมาส4 เริ่มเห็นผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัย น่าจะเห็นดัชนีหุ้นไทย 1,690จุดและมีโอกาสอัพไซส์ประมาณ 10% ซึ่งหุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์การการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งกลุ่มธนาคาร น่าจะรีบาวได้ แต่หากเป็นไปตามกรมควบคุมโรคระบุว่าถ้าไม่มีการล็อคดาวน์จำนวนผู้ติดเชื้อจะสูงสุด 4หมื่นคนต่อวัน กลุ่มที่รับประโยชน์จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจจะสาหัส และเงินบาทมีแนวโน้มจะอ่อนค่าได้อีก ดังนั้นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จะเป็นกลุ่มส่งออก อาหาร กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มโรงพยาบาล เป็นต้น
หากเทียบตลาดในภูมิภาค ตลาดที่บวกคือแถบเอเชียเหนือ เช่น ตลาดไต้หวัน YTD ขึ้นไป กว่า 30% ตลาดเกาหลีขึ้นไป เกือบ 20% สาเหตุหลัก คือ ควบคุมโควิดได้ดีกว่า และมีอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากการที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ตลาดจึงดีกว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ค่อนข้างสาหัสกันเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นสิงคโปร์ ที่ YTD ค่อนข้างดีเกือบ 20%
หากกลับมาดูประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเปรียบเทียบภายในกันเอง ตลาดหุ้นไทยนั้น ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันผลตอบแทนหุ้นไทยบวก 6% ขณะที่บางประเทศติดลบ เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ แต่อินโดนีเซียผลตอบแทนดีกว่าไทย ส่วนเวียดนามดีในช่วงแรก โดยนำโด่งขึ้นไปถึง 30% แต่หลังโควิดระบาดหนัก จึงลดลงมาเหลือ 19% และถ้าระบาดหนักกว่าเดิมอาจลดลงไปได้อีก
แนะกระจายลงทุนเอเชีย-ไทย-อาเซียนชะลอจีน
นายดนัย อรุณกิตติชัย,CFA ผู้บริหารที่ปรึกษาการลงทุนและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน Wealth Advisory by CIMB THAI ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า สำหรับการลงทุนในกลุ่มอาเซียน ทางเลือกในการลงทุนสามารถทำได้ผ่านกองทุนรวม หรือ การลงทุนในหลักทรัพย์โดยตรงในบางตลาด เช่น เวียดนาม โดย 5 ปีที่ผ่านมาการลงทุนในดัชนี VNI Index ของเวียดนามให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ย 16.5% ต่อปี สูงกว่าผลตอบแทนช่วงเวลาเดียวกันของดัชนี S&P500 ที่เป็นหนึ่งในดัชนีที่ให้ตอบแทนสูงและเติบโตเร็วช่วงที่ผ่านมาที่ 15.0% ต่อปี โดยขนาดมูลค่าของตลาดเวียดนาม (Market Capitalization) สะท้อนจากดัชนี VNI Index ก็เติบโตขึ้นกว่า 3.5 เท่าจากมูลค่าโดยประมาณ 84,000 เป็น 210,846 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำไรต่อหุ้นเติบโตโดยเฉลี่ย 14.8% ซึ่งเป็นอัตราที่อยู่ในเกณฑ์สูง
ขณะที่ประเทศอื่นๆ อาจจะทรงตัวและปรับตัวไม่มากนัก แต่ก็ยังน่าสนใจในแง่ของความหลากหลายของอุตสาหกรรมและความหลากหลายในภูมิภาค โดยบางประเทศเน้นอุตสาหกรรมกลุ่มธุรกิจการเงิน บางประเทศเน้นกลุ่มอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ จากปัจจัยในตลาดโลก ทั้งการแพร่ระบาด นโยบายการเงินการคลัง และการอัดฉีดสภาพคล่องของภาครัฐ ทำให้ตลาดหุ้นหลายๆ แห่งโดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ยุโรป เริ่มอยู่ในเกณฑ์แพง สะท้อนจาก Forward PE และความเสี่ยงของการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ทำให้การลงทุนอาจต้องระมัดระวังและหันกลับมามองในฝั่งเอเชีย รวมถึงกลุ่มอาเซียนด้วย ซึ่งยังมีระดับการซื้อขายในช่วง 13-18 เท่า และเทียบกับค่าเฉลี่ยของระดับการซื้อในอดีตก็อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าฝั่งประเทศพัฒนาแล้วตลาดพัฒนาแล้ว แนะชะลอการลงทุนในจีน
“การจัดพอร์ตการลงทุนเรายังคงแนะนำให้กระจายการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวมไทยและอาเซียนด้วยในช่วง 11% ถึง 39% ตามระดับความเสี่ยงจากพอร์ตความเสี่ยงต่ำสุดไปถึงสูงสุด โดยในช่วงที่ผ่านมาเน้นการลงทุนในเวียดนาม แต่หากมองไปในอนาคต การกระจายบางส่วนลงทุนภูมิภาคอาเซียนก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ กองทุนที่ให้ผลตอบแทนโดนเด่นยังเป็นกองทุนที่ลงทุนในเวียดนามที่เป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดในภูมิภาค โดยกองทุนหลัก ได้แก่ กองทุน Principal VNEQ-A ที่ให้ผลตอบแทนโดดเด่นในช่วงที่ผ่านมา ส่วนกองทุนที่ลงทุนในภูมิภาคอาเซียนแม้ผลตอบแทนจะต่ำกว่ากองทุนเวียดนามแต่ความเสี่ยงในแง่ของความผันผวนก็น้อยและเนื่องจากกระจายการลงทุนไปยังหลากหลายอุตสาหกรรมและในหลายประเทศ ได้แก่ กองทุน KT-ASEAN” นายดนัย กล่าว