สรุป "มาตรการเยียวยาประกันสังคม" นครราชสีมา ม.33 ม.39 ม.40 พื้นที่สีแดงเข้ม

05 ส.ค. 2564 | 22:30 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2564 | 15:14 น.

ตรวจสอบเงื่อนไข มาตรการเยียวยาประกันสังคม โคราช หรือ จังหวัดนครราชสีมา 1 ในพื้นที่สีแดงเข้ม จะต้องทำอย่างไร ลูกจ้าง-นายจ้าง ม.33 ม.39 ม.40 จะได้รับเงินกี่บาท สรุปให้ที่นี่ 

"ฐานเศรษฐกิจ" ตรวสอบข้อมูล การจ่าย เงินเยียวยาประกันสังคม ผู้ประกันตน มาตรา 33 มาตรา 39 มาตรา 40 ลูกจ้าง นายจ้าง พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา(โคราช)

ซึ่งเป็น 1 ใน 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงข้ม หรือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ เคอร์ฟิว หรือห้ามออกนอกเคหะสถานในยามวิกาล รวมทั้งห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน การปิดสถานที่เสี่ยงต่างๆ  พบข้อมูล ดังนี้ 

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา ระบุข้อมูลเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564 ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบและให้ความช่วยเหลือกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด (สีแดงเข้ม) ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นไปตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

เสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน กลุ่มแรงงาน และผู้ประกอบการอันเนื่องมาจากข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 30)  

ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือเป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2564 พร้อมขยายกรอบวงเงินการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเป็น 60,000 ล้านบาท จากเดิม 30,000 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้  

1. ปรับเพิ่มพื้นที่ดำเนินการจากเดิม 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด ได้แก่  กทม. กาญจนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ตาก นครปฐม นครนายก นครราชสีมา นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี อยุธยา เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยะลา ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สงขลา สิงห์บุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง

2. กลุ่มเป้าหมายให้ความช่วยเหลือ ยังคงครอบคลุมกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในกิจการที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในส่วนที่อยู่ในระบบประกันสังคม (ม.33, ม.39 และ ม.40) และไม่อยู่ในระบบประกันสังคม

3. ประเภทกิจการที่ให้ความช่วยเหลือ คือ กิจการในระบบประกันสังคมจะครอบคลุม 9 สาขาและในกลุ่มผู้ประกอบการในระบบ "ถุงเงิน" ภายใต้โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะ ในปัจจุบันที่ผ่านการคัดกรองแล้ว และไม่เป็นผู้ถูกตัดสิทธิ์ จากกระทรวงการคลัง จำนวน 5 กลุ่ม

4. รูปแบบการให้ความช่วยเหลือเป็นไปตามมติ ครมเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 64

5. ระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ กลุ่ม 13 จังหวัดเดิม 

  • คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปัตตานี นราธิวาส ยะลา  สงขลา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา และ ฉะเชิงเทรา ได้รับการเยียวยา 2 เดือน คือเดือน ก.ค.-ส.ค. 64 

โดยลูกจ้างผู้ประกันตนมาตรา 33 สัญชาติไทย ที่อยู่ใน 9 กลุ่มกิจการ ได้รับเยียวยา 2,500 บาท สำหรับเดือน ก.ค. 64 และอีก 2,500 บาท สำหรับเยียวยาเดือน ส.ค. 64 รวมเป็น 5,000 บาท ส่วนนายจ้างจะได้รับเงินตามจำนวนลูกจ้าง เพิ่มอีก 1 เดือน

ขณะที่ผู้ประกันตนมาตรา 39 และ มาตรา 40 จะได้รับเงินเพิ่ม 5,000 บาท สำหรับการเยียวยาล็อกดาวน์เดือน ก.ค. 64 และอีก 5,000 บาท สำหรับการเยียวยาล็อกดาวน์เดือน ส.ค. 64

ส่วนกลุ่ม 16 จังหวัดที่เพิ่มเติม

  • คือ กาญจนบุรี  สมุทรสงคราม  สุพรรณบุรี  เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี  อ่างทอง  นครนายก  ปราจีนบุรี  ลพบุรี  ระยอง สิงห์บุรี   สระบุรี  นครราชสีมา เพชรบูรณ์ และ ตาก ได้รับการเยียวยาสำหรับการล็อกดาวน์ 1 เดือน คือเดือน ส.ค. 64 

สำหรับกิจการรวม 9 สาขาอาชีพที่ได้รับความช่วยเหลือ ได้แก่ 

  1. ก่อสร้าง 
  2. ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 
  3. ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ 
  4. กิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด 
  5. ขายส่งและการขายปลีก ซ่อมยานยนต์ 
  6. ขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 
  7. กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 
  8. กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ 
  9. ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร  

 

รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ มีดังนี้

1) กลุ่มที่อยู่ในระบบประกันสังคม 

นายจ้างและผู้ประกันตน ตามมาตรา 33   

  • นายจ้างและผู้ประกอบการ รัฐบาลยังคงจ่ายให้นายจ้างตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาท/หัว/สถานประกอบการ สูงสุด ไม่เกิน 200 คน  
  • ลูกจ้าง จ่ายเพิ่มเป็น  2,500 บาท/คน จากที่ลูกจ้างจะได้รับตามมาตรการช่วยเหลือเดิมเพียง 2,000 บาท/คน  ซึ่งเมื่อรวมกับจ่ายชดเชยเยียวยาร้อยละ 50 ของรายได้ให้ลูกจ้าง สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน ทำให้ผู้ประกันตน ม.33 สัญชาติไทย จะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐไม่เกิน 10,000 บาท/คน
  • ผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 ที่ประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบัน จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน  
  • สำหรับผู้ที่อยู่นอกระบบ ม.33 อาชีพอิสระ และขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.40) ภายในเดือน ก.ค. 64  จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน   

2) กลุ่มที่อยู่นอกระบบประกันสังคม  

  • กลุ่มผู้ประกอบการ/นายจ้าง กรณีมีลูกจ้าง ที่ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.33) ภายในเดือน ก.ค. 64  นายจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาท/หัว/สถานประกอบการ สูงสุดไม่เกิน 200 คน ขณะเดียวกันลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,500 บาท/คน
  • กรณีที่ไม่มีลูกจ้าง และลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ภายในเดือน ก.ค. จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน รวมทั้งขยายมาตรการช่วยเหลือ จากเดิมให้เฉพาะผู้ประกอบการในหมวดร้านอาหารและเครื่องดื่ม ในโครงการคนละครึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม ได้รับการช่วยเหลือ 3,000 บาทเท่านั้น   
  • สำหรับผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน”  โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะ  
  • ขยายให้ความช่วยเหลือจากเดิมเฉพาะหมวดร้านอาหารและเครื่องดื่ม  เป็น 5 กลุ่ม ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้าน OTOP ร้านค้าทั่วไป ร้านค้าบริการและกิจการขนส่งสาธารณะ (ไม่รวมกิจการขนาดใหญ่) กรณีที่มีลูกจ้าง ที่ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคมภายในเดือน ก.ค. 64  นายจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาท/คน/สถานประกอบการ  สูงสุดไม่เกิน 200 คนและลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,500 บาท/คน กรณีที่ไม่มีลูกจ้าง ลงทะเบียนเป็นผู้ประกันสังคม (ม.40) ภายในเดือน ก.ค. 64  จะได้รับเงินในอัตรา 5,000 บาทต่อคน 

ทั้งนี้ ในการจ่ายเงินชดเชยผู้ที่อยู่ในมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศ-คำสั่งของรัฐบาล ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ได้รับการชดเชย 2,500 บาทด้วย และลูกจ้างแรงงาน มาตรา 33 ที่ตกงาน จ่าย 50% ของค่าจ้างรายวัน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท และจ่ายสมทบให้สัญชาติไทยอีก 2,500 บาทต่อคน ไม่เกิน 10,000 บาท โดยจะโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชน 

ส่วนการจัดสรรให้นายจ้าง ที่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ไว้ถูกต้องครบถ้วนแล้ว 9 กิจการ จะดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ เลขประจำตัวประชาชน ให้แก่ นายจ้างที่อยู่ในเขต 29 จังหวัดควบคุมสูงสุดหรือสีแดงเข้ม โดยนายจ้างได้สูงสุด 6 แสนบาท(จากลูกจ้างไม่เกิน 200 คน ๆ ละ 3,000 บาท)

ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ 40 ซึ่งเป็นกลุ่มฟรีแลนซ์และอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ครั้งล่าสุดนี้ รัฐบาลจะเยียวยา 5,000 บาท โดยผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 และ 40 ก่อนวันที่ 28 มิ.ย. 2564 และสมัครภายในวันที่ 30 ก.ค. 2564 สำนักงานประกันสังคมส่งข้อมูล และโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์

นายจ้างผู้ประกอบการ ในระบบ “ถุงเงิน” 5 หมวด ให้ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนมาตรา 33 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับเงินช่วยเหลือตามผู้ประกอบการในระบบถุงเงิน 5 หมวด ภายใต้โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะ ที่ไม่มีลูกจ้างและขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนมาตรา 40 ภายในเดือน ก.ค. นี้ จะได้รับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท ด้วยเช่นกัน

ขณะที่กระทรวงแรงงาน แจ้งว่าในวันที่ 4-6 ส.ค. 64 จะโอนเงินเยียวยางวดแรก ให้ลูกจ้างผู้ประกันตนมาตรา 33  จำนวน 2,500 บาท และนายจ้าง ผู้ประกอบการมาตรา 33  ตามจำนวนลูกจ้าง หัวละ 3,000 บาท ไม่เกิน 200 หัว

ในพื้นที่ 10 จังหวัดแรก คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปัตตานี นราธิวาส ยะลา  สงขลา ผ่านเข้าบัญชีพร้อมเพย์ ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน เท่านั้น หรือบัญชีนิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ

จากนั้น วันที่ 9 ส.ค. 64 จะโอนให้นายจ้างและลูกจ้างผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่ จ.ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา ต่อไป โดยเข้าบัญชีพร้อมเพย์เท่านั้น (สำหรับลูกจ้าง)

สำหรับเงินเยียวยา มาตรา 39 และมาตรา 40 นั้น กำหนดโอนเข้าบัญชีพร้อมเพย์แก่ผู้ประกันตน ในวันที่ 24 ส.ค. 64 เป็นต้นไป พร้อมกันทั้ง 13 จังหวัด

กรณีขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 แล้ว แต่ไม่ได้ชำระเงินสมทบงวดแรก ทำให้สถานะความเป็นผู้ประกันตนยังไม่สมบูรณ์ กระทรวงแรงงานขยายเวลาให้จ่ายเงินสบทบประกันสังคมมาตรา 40 งวดแรก ภายในวันที่ 10  ส.ค. 64 ทางช่องทางต่าง ๆ อาทิ เคาน์เตอร์เซอร์วิส 7- 11 ตู้บุญเติม  เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย ฯลฯ เพื่อรับสิทธิเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รวม 10,000 บาท

ทั้งนี้สามารถตรวจสอบสิทธิเยียวยา ม.33 ได้ที่ https://www.sso.go.th/eform_news/

สำหรับผู้ที่สนใจสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 สามารถสมัครง่าย ๆ ด้วยตนเองผ่านมือถือที่เว็บไซต์ www.sso.go.th หรือผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส (7-11) เคาน์เตอร์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และที่เคาน์เตอร์บิ๊กซี (Big C) หรือสมัครผ่านผู้แทนเครือข่ายประกันสังคม

ทั้งนี้ เมื่อสมัครแล้วสามารถจ่ายเงินสมทบได้ทันที สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ หรือที่สายด่วน 1506 ให้บริการ ไม่เว้นวันหยุดราชการตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังได้รับมอบหมายให้ไปเร่งจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีอายุเกิน 65 ปี  ที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ทำให้ไม่สามารถได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการลดผลกระทบและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 64  ใน 29 จังหวัดสีแดงเข้ม เพื่อนำเข้าที่ประชุมเพื่อให้ ครม.พิจารณาในโอกาสต่อไป