คิกออฟ บลน.ฐานแคป เปิดขายกองทุนออนไลน์

25 ม.ค. 2565 | 04:11 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ม.ค. 2565 | 16:46 น.

ก.ล.ต.ไฟเขียว บลน.ฐานเศรษฐกิจ แคปพิตอล เริ่มทำธุรกิจ พร้อมเดินหน้าขายกองทุนออนไลน์ ด้วยทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท ชูจุดแข็งมีช่องการประชาสัมพันธ์ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากรผ่านทางสื่อฐานเศรษฐกิจ และสื่อในกลุ่มเนชั่นพันธมิตร พร้อมแพลตฟอร์มออนโลน์ภายใต้ The Cap

น.ส.ศิริพรรณ ชินวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) ฐานเศรษฐกิจ แคปพิตอล จำกัดเปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้รับหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ลงวันที่ 20 มกราคม 2565 แจ้งว่า ก.ล.ต.ได้พิจารณาอนุญาตให้บริษัทเริ่มประกอบธุรกิจเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ หน่วยลงทุนได้ นับตั้งแต่ได้รับการอนุมัติ โดยที่บริษัทต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และประกาศที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด

 

สำหรับ บลน.ฐานเศรษฐกิจ แคปพิตอล เป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของบริษัท ฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย จำกัด ซึ่งมีบริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NEWS เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 เพื่อรองรับการลงทุนในธุรกิจการเป็นนายหน้า ตัวแทน ตัวแทนค้าต่างประเทศ ในกิจการและธุรกิจทุกประเภท รวมถึงธุรกิจประกันภัย และการหาสมาชิกให้สมาคมและการค้าหลักทรัพย์
 

บลน.ฐานเศรษกิจ แคปพิตอล ก่อตั้งด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท และได้เพิ่มทุนอีก 15 ล้านบาท ส่งผลให้มีทุนจดทะเบียนเพิ่มเป็น 25 ล้านบาท โดยได้ดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนเพิ่มทุนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นที่เรียบร้อยแล้วไปเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564   

คิกออฟ บลน.ฐานแคป  เปิดขายกองทุนออนไลน์

“เราจะมุ่งเน้นการสร้างนักลงทุน ผ่านการให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนที่สามารถประยุกต์ใช้ได้กับชีวิตจริง และเพื่อเสริมสร้างการเงินส่วนบุคคล ผ่านการนำเสนอข้อมูลด้านการลงทุนผ่านสื่ออิเลคทรอนิกส์ มีรูปแบบทันสมัยและแปลกใหม่ ผ่านการทำงานร่วมกันของสื่อพันธมิตรในเครือบริษัท นำเสนอข้อมูลผลิตภัณฑ์กองทุนรวมที่มีประสิทธิภาพ ตรงกับความต้องการของลูกค้า โดยยึดหลักธรรมาภิบาลเป็นสำคัญ”น.ส.ศิริพรรณกล่าว

น.ส.ศิริพรรณกล่าวว่า จุดแข็งในการดำเนินธุรกิจของบลน.ฐานเศรษฐกิจ แคปพิตอล คือมีผลิตภัณฑ์กองทุนให้เลือกลงทุนที่หลากหลายประเภท และหลากหลาย บลจ. ที่บริษัทสามารถเลือกที่จะเป็นตัวแทนจำหน่ายได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับ บลจ.ต่างๆ เพื่อร่วมเป็นพันธมิตร โดยมีความคืบหน้าไปแล้ว 10-20% เพราะจะเริ่มดำเนินการได้จริงต้องหลังจากได้รับอนุญาตจากก.ล.ต.เท่านั้น 

คิกออฟ บลน.ฐานแคป  เปิดขายกองทุนออนไลน์

บลน.ฐานเศรษฐกิจ แคปพิตอล ยังมีช่องทางการประชาสัมพันธ์ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากรผ่านทางสื่อฐานเศรษฐกิจ และสื่อในกลุ่มเนชั่นที่เป็นพันธมิตร เช่นกรุงเทพธุรกิจ เนชั่น คมชัดลึก สปริงนิวส์ และ ไทยนิวส์  มีการจัดทำแพลตฟอร์มออนโลน์ในการให้ข้อมูลการลงทุนผ่านเพจหลัก ภายใต้ชื่อ The Cap เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารการลงทุน ทั้งการเสนอขายกองทุน การวิเคราะห์ภาพรวมตลาดในแต่ละช่วงด้วย ทั้งจากเจ้าหน้าที่และพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจกองทุน นักวิเคราะห์ทางเทคนิค และเทคโนโลยีสารสนเทศ

 

อย่างไรก็ตาม การที่เป็นบริษัทผู้เล่นรายใหม่ในตลาดและมีการจำหน่ายกองทุนผ่านระบบออนไลน์เป็นหลัก ไม่มีจำนวนสาขาที่เปิดให้บริการ มีจำนวนพนักงานขายที่ไม่มากนักอาจเป็นจุดอ่อนในการทำธุรกิจ แต่เป็นจุดแข็งในเรื่องการดูแลต้นทุนและรับกับพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไป ดังนั้น บลน.ฐานเศรษฐกิจ แคปพิตอล จึงต้องทำงานให้หนักขึ้น เพื่อพัฒนาจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็งให้ได้

 

มอร์นิ่งสตาร์ไทยแลนด์รายงานภาพรวมกองทุนรวมไทยในปี 2564 พบว่า มูลค่ากองทุนประเภทต่างๆ ทั้งกองทุนเปิด กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ETF และกองรีท มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 5.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.6% จากสิ้นปี 2563 โดยกองทุนรวมตราสารทุน เป็นประเภทที่มีมูลค่าทรัพย์สินสูงสุด 1.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 38% ของอุตสาหกรรม

 

ทั้งนี้ปี 2564 มีเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนรวมมูลค่า 2 แสนล้านบาท โดยมีเงินไหลเข้าจากกองทุนตราสารทุนต่างประเทศเป็นหลัก เช่น Global Equity และ China Equity ขณะที่กองทุนหุ้นไทย Equity Large-Cap มีเงินไหลออกต่อเนื่องตลอดทั้งปี ขณะที่เม็ดเงินไหลออกมาจากกองทุนตราสารตลาดเงิน ซึ่งมีเงินไหลออกสุทธิระดับแสนล้านบาท

 

ส่วนกองทุน RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 20% จากปี 2563 โดยในไตรมาสสุดท้ายยังคงเป็นช่วงที่มีการซื้อกองทุนอย่างคึกคักเหมือนเช่นเคย กองทุน RMF ที่ลงทุนในตราสารทุนต่างประเทศเป็นส่วนสำคัญของเงินไหลเข้าในปีนี้ เช่น กลุ่มกองทุนหุ้นทั่วโลก (Global Equity) และกองทุนหุ้นจีน (China Equity) ขณะที่กองทุน RMF หุ้นไทยรวมเป็นเงินไหลออกสุทธิ

 

มอร์นิ่งสตาร์รายงานกองทุนยั่งยืนในประเทศไทยยังคงมีการเติบโตต่อเนื่อง ล่าสุดมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 6.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวจากปี 2563 ซึ่งมีส่วนมาจากการลงทุนต่างประเทศที่กำลังเติบโตและเป็นส่วนแบ่งหลักของตลาดกองทุนอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องเช่น พลังงานหมุนเวียน การบริหารจัดการน้ำ ได้รับความสนใจจากศักยภาพการเติบโตในอนาคต 

 

การเติบโตของธุรกิจกองทุนรวมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.)ต่างมองหาช่องทางการขายต่างๆมาเสริมทัพ โดยเฉพาะบลจ.ที่ไม่ใช่บริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน(บลน.) ซึ่งมีหน้าที่ชัดเจนในการขายกองทุนจึงเป็นอีกหนึ่งเลือกที่น่าสนใจ